Co-learning Space โมเดลใหม่แห่งการแบ่งปัน
คุณปิยะวัลย์ สร้อยน้อย ผู้อำนวยการ สามย่าน โค-ออป บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือโกลเด้นแลนด์ ผู้บริหารโครงการสามย่าน โค-ออป เปิดเผยว่า สามย่าน โค-ออป ไม่ใช่ Co-working Space แบบที่หลายคนคุ้นเคยมาก่อนหน้า เพราะด้วยโมเดลการพัฒนาที่แตกต่าง คือ ไม่ได้มองเป็นรูปแบบของการสร้างอีกหนึ่งธุรกิจเพื่อหารายได้ให้แก่บริษัท แต่ที่นี่คือ Co-learning Space ที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถเข้ามาใช้บริการได้ฟรี เป็นแห่งแรกของประเทศไทยก็ว่าได้
“สามย่าน โค-ออป Co-learning Space เป็นการผสมผสานจุดเด่นของ Third Place แต่ละประเภทที่คนทำงาน ฟรีแลนซ์ หรือนักเรียน นักศึกษา นิยมเข้าไปใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ ห้องสมุด หรือโคเวิร์กกิ้งสเปซแบบเดิมๆ ซึ่งแต่ละประเภทของพื้นที่เหล่านี้ก็จะมีทั้งจุดเด่นและข้อจำกัดที่ต่างกันไป แต่สามย่าน โค-ออป เลือกที่จะหยิบข้อดีของแต่ละโมเดล และแก้ไขข้อจำกัดต่างๆ จนกลายเป็นรูปแบบของ Public Space ที่แตกต่างไปจากสิ่งที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ และยังสอดคล้องไปกับแนวคิดในการตอบแทนคืนให้กับสังคมของโครงการสามย่านมิตรทาวน์อีกด้วย”
สำหรับความแตกต่างและจุดเด่นของสามย่าน โค-ออป สอดคล้องมาจากคอนเซ็ปต์ในการพัฒนาโครงการสามย่าน มิตรทาวน์ โดยเฉพาะในส่วนของศูนย์การค้าสามย่าน มิตรทาวน์ พลาซ่า ที่พัฒนาขึ้นโดยชูจุดเด่น 2 เรื่อง คือ Knowledge และ Food ภายใต้แนวคิด “คลังแห่งอาหารและการเรียนรู้”
ทำให้สิ่งที่จะต้องสะท้อนออกมาอย่างเด่นชัดในพื้นที่ของสามย่าน โค-ออป ซึ่งถือเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของศูนย์การค้าแห่งนี้ คือ ภาพของความ Smart และ Friendly นำมาสู่โมเดลในการพัฒนาเป็น Co-learning Space ที่ให้บริการฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง ที่ยังไม่เคยมีใครพัฒนามาก่อน โดยจุดเด่นและความแตกต่างของพื้นที่แห่งนี้ ที่สามารถพูดได้ว่าเป็นการก้าวข้าม Barrier ต่างๆ ที่ผู้ใช้บริการ Public Space เคยพบมาก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย
1. เป็นพื้นที่เปิดให้บริการฟรี แบบ 24 ชั่วโมง เพราะที่ผ่านมา ถ้าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการทำงาน หรืออ่านหนังสือ จะมีจุดเด่นต่างกัน เช่น บางที่ให้บริการฟรี แต่จำกัดเวลาการให้บริการ เดินทางไม่สะดวก หรือบรรยากาศไม่เอื้อต่อการทำงานหรืออ่านหนังสือ ขณะที่บางพื้นที่ มีทุกสิ่งทุกอย่างเพียบพร้อม แต่ก็ต้องแลกมาด้วยค่าบริการที่สูง หรือมีไว้ให้บริการสำหรับแค่กลุ่มลูกค้าที่สมัครเป็นสมาชิกเท่านั้น แต่สามย่าน โค-ออป เปิดให้ใช้บริการฟรี โดยสามารถรองรับได้กว่า 500 ที่นั่ง และมาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างครบถ้วน เพื่อรองรับความต้องการหรือรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันไป โดยวางกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ามาใช้บริการเป็นกลุ่มนิสิต นักศึกษาราว 60% และคนทำงาน สตาร์ทอัพ และฟรีแลนซ์ทั่วไป ประมาณ 40%
2. การดีไซน์พื้นที่อย่างมีเอกลักษณ์ และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการใช้งาน โดยใช้พื้นที่กว่า 30% ของโซนรีเทล 24 ชั่วโมง หรือราว 1,400 ตารางเมตร จาก 5,000 ตารางเมตร บริเวณชั้น 2 และ 3 มาใช้วิธีดีไซน์แบบ Double Volume Space เพื่อให้กลายเป็นพื้นที่ 3 ชั้น อยู่ภายใน และแบ่งโซนนิ่งพื้นที่ภายใน ตามรูปแบบการใช้งานในแต่ละลักษณะอย่างเหมาะสม จากการไปสำรวจความต้องการของผู้ใช้งานมาโดยตรง เช่น Open Reading Zone สำหรับมานั่งทำงาน หรืออ่านหนังสือ Private Room ที่จะแบ่งเป็น 8 ห้อง ที่แตกต่างกันไปในแต่ละห้อง สำหรับการนัดประชุม หรือนำเสนองานต่างๆ Sky Reading Zone สำหรับผู้ที่มาคนเดียวและอยากนั่งอ่านหนังสือ หรือทำงานคนเดียว Focus Zone (โซนงดใช้เสียง) เหมาะสำหรับการไปอ่านหนังสือทบทวนก่อนสอบ หรือคนที่ต้องการสมาธิที่ดีในการทำงาน เป็นต้น
3. การสร้าง Community และองค์ความรู้ใหม่ๆ สามย่าน โค-ออป ที่ไม่ได้ต้องการเป็นเพียง Space Provider แต่ต้องการสร้าง Learning Engagement เพื่อให้พื้นที่นี้กลายเป็น Knowledge Hub อย่างแท้จริง ผ่านการเติมคอนเทนต์ หรือกิจกรรมต่างๆ เข้ามาในพื้นที่จึงมีความสำคัญ ภายใต้ความร่วมมือของพันธมิตรทางด้านคอนเทนต์และการจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ บริษัท ลูกคิด จำกัด (LUKKID Co.,Ltd) และ สถาบันแฮกเกอร์เฮาส์ (Hacker House Institute) โดยเนื้อหาจะเน้นทั้งการทำเวิร์คช็อป, จัดอบรมหรือเทรนนิ่ง งาน Talk & Guidance เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและความรู้ใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากตำราเรียน เช่น เรื่องของ Design Thinking การเขียน Coding หรือการบ่มเพาะกลุ่มสตาร์ทอัพต่างๆ เป็นต้น
4. ความมั่นใจในเรื่องระบบ Security ด้วยโลเกชั่นที่เดินทางมาถึงด้วยรถไฟฟ้า MRT สามย่าน และอยู่ด้านหน้าของศูนย์การค้าสามย่าน มิตรทาวน์ ทำให้เข้าถึงได้สะดวกและมีความปลอดภัยสูง รวมทั้งมีพนักงานคอยดูแลความปลอดภัยทั้ง 24 ชั่วโมง ทั้งที่อยู่ภายในสามย่าน โค-ออป เอง รวมทั้งพนักงานรักษาความปลอดภัยของทางศูนย์ฯ เอง และยังมีการติดตั้ง CCTV ไว้ภายในพื้นที่ รวมทั้งยังใช้ระบบ Online ในการลงทะเบียนเข้ามาใช้บริการ ทำให้ทราบว่าผู้ที่เข้ามาใช้บริการอยู่ภายในเป็นใครบ้างแม้ว่าจะเป็น Public Space ก็ตาม เพื่อป้องกันการแฝงตัวเข้ามาของผู้ไม่ประสงค์ดีทั้งหลาย ซึ่งนับเป็นความกังวลอันดับต้นๆ ของผู้ปกครองที่เป็นห่วงบุตรหลานในการไปใช้บริการพื้นที่สาธารณะเหล่านี้
5. ความสะดวกสบายที่มากกว่า ทั้งการมี Direct Link ที่เชื่อมมาจาก MRT สามย่าน เข้ามาถึงศูนย์การค้าได้เลย รวมทั้งการที่อยู่ในศูนย์การค้าที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ทำให้สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ทั้งร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธนาคาร หรือบริการส่งพัสดุต่างๆ ได้ตลอดเวลา ต่างจากโคเวิร์กกิ้งสเปซ หรือพื้นที่สาธารณะแห่งอื่น รวมทั้งการพัฒนา SAMYAN CO-OP Mobile Application ที่สามารถใช้ลงทะเบียนจองการเข้ามาใช้บริการได้ล่วงหน้า รวมทั้งการเช็คจำนวนที่นั่งที่ยังมีเหลืออยู่ หรือการเช็คโปรแกรมหรือกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น และสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมในกิจกรรมที่มีความสนใจได้ตลอดเวลา
KBank ร่วมแจม ตั้ง The Office Space
ด้วยโมเดลในการบริหารสามย่าน โค-ออป ที่อยู่ในรูปแบบของการให้บริการฟรี การมีพันธมิตรร่วมอุดมการณ์จึงมีความสำคัญ ซึ่งนอกจากพันธมิตรในเรื่องของการเติมคอนเทนต์และกิจกรรมในพื้นที่แล้ว อีกหนึ่งพันธมิตรสำคัญ ที่จะเข้ามาช่วยเสริมให้สามย่าน โค-ออป แข็งแรงได้มากขึ้น คือ ธนาคารกสิกรไทย หรือ เคแบงก์ (KBank) ที่เข้ามาเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนการให้บริการพื้นที่ พร้อมตั้ง KBank The Office Space โดยใช้พื้นที่เกือบ 10% ใน Co-learning Space แห่งนี้ เป็นพื้นที่ในการสร้าง Employee Engagement สำหรับบริการพนักงานของเคแบงก์ให้มี Public Space เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและความยืดหยุ่นในการทำงานของพนักงานได้เพิ่มมากขึ้นด้วย
คุณฐิติพร สิริศรีสกุลชัย ผู้อำนวยการฝ่าย Innovative Business Management Department ธนาคารกสิกรไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา การทำ CSR ของ KBank อาจจะให้น้ำหนักไปที่ลูกค้าเป็นหลัก แต่อีกหนึ่งภาคส่วนที่ธนาคารต้องให้ความสำคัญไปไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ การดูแลพนักงาน ดังนั้น ความร่วมมือกับสามย่าน โค-ออป ในครั้งนี้ จึงได้ทั้งการเข้ามาสนับสนุนในโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และยังเป็นการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับพนักงานของธนาคาร ด้วยการเพิ่มพื้นที่ส่วนกลางสำหรับพนักงานทุกคน สำหรับการประชุม นัดคุยงาน หรือ VDO Conference ต่างๆ โดยสามารถเข้ามาใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกัน
เห็นได้ว่า สามย่าน โค-ออป เป็นมากกว่าแค่ Public Space เหมือนที่คุ้นเคยกันมาก่อนหน้านี้ แต่พยายามเติมความใหม่ ความแตกต่าง และเป็นสิ่งที่สามารถตอบโจทย์ในสิ่งที่ผู้คนในยุคปัจจุบันกำลังมองหา ตามแนวทางในการพัฒนาสามย่านมิตรทาวน์ที่พยายามสร้างความแตกต่างให้กับทุกๆ พื้นที่เช่นเดียวกับการมี Co-learning Space เข้ามาเป็นส่วนเติมเต็มให้กับสามย่าน มิตรทาวน์ที่มีโซนพลาซ่า 24 ชั่วโมง ซึ่งช่วยสร้าง Differentiation ที่แข็งแกร่งในธุรกิจรีเทล 24 ชั่วโมง ขณะที่การเป็น Space อยู่ในศูนย์การค้าที่ให้บริการ 24 ชั่วโมงก็ทำให้สามย่านโค-ออป มีความแตกต่างจาก Public Space ทั่วไปได้เช่นเดียวกัน
สำหรับสามย่าน โค-ออป เตรียมเปิดให้บริการพร้อมกับการเปิดตัวโครงการมิกซ์ยูสสามย่าน มิตรทาวน์ในวันที่ 20 กันยายนนี้แล้ว โดยคาดว่าจะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับทั้งชุมชน สังคม และสามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี โดยประเมินตัวเลขผู้เข้ามาใช้บริการไว้ที่ราว 2,500 คนต่อวัน หรือปีละ 9 แสนคนต่อปี
ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/Samyan-CO-OP-109079973767623/
by Brand Buffet
Total Rating ✔
9.2 stars – 2,789 reviews
More Reviews
อ่านรีวิว ทั้งหมดคลิก
แสดงความคิดเห็น
“สามย่าน โค-ออป” Co-learning Space กลางสามย่านมิตรทาวน์
จุดนัดเรียนพิเศษ, Co Learning Space