สำรวจ
แนะนำ
สอบเข้า
ออนไลน์

ครูสอนพิเศษ คุณภาพอันดับ1

หาครูสอนพิเศษตัวต่อตัว คลิกเลย

ติวสอบทุนนักบิน Student Pilot

ค้นหาด้วยเสียง
ค้นหาด้วยเสียงคลิกที่นี่

» » ทำไมน้องจึงไม่ยอมพูดที่โรงเรียน

29 เมษายน 2564

ทำไมน้องจึงไม่ยอมพูดที่โรงเรียน

การช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาพูดได้แต่ไม่ยอมพูด

ทำไมน้องจึงไม่ยอมพูดที่โรงเรียน


การช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาพูดได้แต่ไม่ยอมพูด


29 เมษายน 2564

"น้องก้อย เด็กหญิงวัย 6 ขวบ รูปร่างเล็กผอมบาง เพิ่งเข้าเรียน ป. 1 ปีนี้ โรงเรียนเปิดเทอมมาตั้งเทอมหนึ่งแล้วแต่น้องก้อยยังไม่ยอมพูดกับคุณครูเลย และไม่พูดคุยกับเพื่อนนักเรียนคนไหน ยกเว้นน้องเก๋ซึ่งนั่งโต๊ะติดกัน แต่เป็นการคุยแบบกระซิบเบาๆ ด้วยถ้อยคำสั้นๆเป็นบางครั้งเท่านั้น น้องก้อยเล่นกับเพื่อนได้ถ้ามีเพื่อนเข้าไปชวนเล่น แต่เป็นการเล่นเงียบๆและเป็นฝ่ายตาม ส่วนการเรียนนั้นถ้าเป็นการเขียนไทย คิดเลข วาดรูประบายสี น้องก้อยก็ทำได้ ถ้าเป็นการอ่านน้องก้อยจะอ้าปากขมุบขมิบโดยไม่มีเสียงแต่ไม่เคยยอมอ่านออก เสียงให้คุณครูได้ยินสักครั้งเดียว น้องก้อย"เงียบ"เสียจนคุณครูอึดอัดใจ แต่คุณครูต้องแปลกใจที่คุณแม่ของน้องก้อยบอกว่า น้องก้อยพูดคุยกับคนในบ้านได้ตามปกติ คุณแม่ยังอัดเทปเสียงท่องคำศัพท์ของน้องก้อยมาให้คุณครูฟังด้วย ทั้งคุณแม่และคุณครูต่างก็หนักใจว่าทำไมน้องก้อยจึงไม่ยอมพูดที่โรงเรียน และจากการพูดคุยกับคุณแม่ทำให้คุณครูทราบเพิ่มเติมขึ้นว่า น้องก้อยจะเงียบเฉย ไม่ยอมพูดคุยกับคนอื่นซึ่งไม่ใช่บุคคลในครอบครัว หรือถ้าคุณพ่อคุณแม่พา น้องก้อยไปไหน น้องก้อยก็จะ "เงียบ" น้องก้อย "พูดเฉพาะแต่ในบ้าน" เท่านั้น

เด็กที่มีปัญหาดังกรณีตัวอย่าง "น้องก้อย " นี้ ปัจจุบันทางจิตเวชจะให้การวินิจฉัยเป็น Selective Mutism ซึ่งอาจให้คำจำกัดความโดยทั่วไปว่า " เป็นความผิดปกติในเด็ก ที่มีลักษณะขาดการแสดงออกทางคำพูด อย่างน้อยในสถานการณ์เฉพาะอย่าง ซึ่งโดยทั่วไปมักเป็นในห้องเรียน หรือสถานการณ์ทางสังคมภายนอกบ้าน แม้ว่าเด็กจะพูดได้ตามปกติในสถานการณ์อื่น เช่น ที่บ้าน หรือกับเพื่อนสนิท " การดูแลช่วยเหลือและรักษาเด็กที่มีปัญหาพูดได้แต่ไม่ยอมพูด (Selective Mutism) เป็นเรื่องที่อาจค่อนข้างน่าหนักใจทั้งสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง ครู และตัวผู้รักษาเองก็ตาม เพราะความยากที่จะเข้าใจว่า เหตุใดเด็กจึงไม่ยอมพูดที่โรงเรียนและที่อื่นๆในสังคม จึงมักตามมาด้วยความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจและเหนื่อยหน่ายท้อแท้ของผู้ที่ ดูแลเด็กในที่สุด แต่ถ้าหากเราได้ทำความเข้าใจว่า selective mutism คืออะไร มีสาเหตุจากอะไรบ้าง และ ที่สำคัญที่สุดคือ เข้าใจในตัวเด็กได้ การดูแลรักษาเด็กก็จะเกิดความต่อเนื่องสม่ำเสมอ แม้จะดำเนินไปได้อย่างช้าๆก็ตาม และด้วยการช่วยกันดูแลเด็กของ ผู้ปกครอง ครูและผู้รักษาที่ตั้งเป้าหมายร่วมกันอย่างเหมาะสมกับความเป็นจริง บวกกับ การพยายามทำความเข้าใจในตัวเด็ก ก็จะทำให้การช่วยเหลือเด็กเอาชนะสภาวะดังกล่าว มีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น Sandra Coiffman-Yohros ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาคณะกรรมการของ selective Mutism Foundation Inc. ในสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงประสบการณ์การศึกษาและรักษาเด็กที่มีปัญหานี้ว่า มีเด็กจำนวนมากที่แสดงรูปแบบอาการวิตกกังวล กลัวสังคม เช่นเดียวกับการมีปัจจัยพื้นฐานดั้งเดิมอยู่ก่อนแล้ว ได้แก่ ขลาดอายอย่างมาก และเป็นเด็กมีพื้นอารมณ์ที่ปรับตัวได้ช้า ( slow to warm up temperament ) เด็กเหล่านี้ส่วนมากมักเป็นเด็กฉลาด อยากรู้อยากเห็น และช่างสังเกตเกี่ยวกับสิ่งแวด-ล้อมและปฏิสัมพันธ์ที่เกิดรอบตัว
การช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ต้องอาศัยการช่วยแบบองค์รวม ทั้งในการช่วยด้านสังคม การศึกษา จิตใจ และการดูแลด้านจิตเวชร่วมไปด้วยกัน ผู้ทำหน้าที่ดูแลเด็ก จำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ความอดทน ความเข้าอกเข้าใจและรู้จักยืดหยุ่นในการให้ความช่วยเหลือ วิธีการที่ใช้ได้ดีกับเด็กคนหนึ่งอาจจะใช้ไม่ได้กับเด็กอีกคนหนึ่งก็ได้ ดังนั้นการเปิดใจให้กว้างและช่วยแบบองค์รวมจึงสำคัญที่สุด

แนวทางสำหรับการบำบัดรักษา
1. กรณีเด็กเล็กควรใช้การเล่นเพื่อบำบัดเข้าช่วย ผู้รักษาควรมีวัสดุอุปกรณ์ในการเล่นที่หลากหลายมากพอ เช่น เกมส์ การเล่นสมมติ อุปกรณ์ระบายสี เพื่อช่วยทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย เป็นกันเองได้แม้จะไม่พูดคุยสื่อสาร
2. ให้เด็กได้มีบทบาทในการนำ โดยผู้รักษาไม่ควรใช้การบังคับให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ หรือให้มีส่วนร่วม และไม่ควรให้ความสนใจเฉพาะเจาะจงที่การสื่อต่อด้วยวาจา จนกว่าเด็กจะรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยและผ่อนคลาย
3. ใช้ดนตรีและศิลปะเข้าช่วย เพราะดนตรีและศิลปะมักเป็นเครื่องมือที่ดีในการสนับสนุนให้เกิดปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร 4. ในขณะที่การรักษาดำเนินก้าวหน้าขึ้นให้ใช้วิธี การ successive approximations หรือ"ทำได้เกือบจะสำเร็จ" เช่น ใช้ระบบสัญญลักษณ์ ใช้ภาษานำทาง และการตอบสั้นๆคำเดียวเพื่อเติมประโยคให้สมบูรณ์ เป็นต้น เมื่อเด็กเริ่มพัฒนาการใช้ภาษา
5. ควรถามผู้ปกครองถึงการใช้เวลาว่างและกิจกรรมที่เด็กโปรดปรานและพยายามจัดกิจกรรมเช่นนั้นในสถานที่บำบัด
6. ควรให้ความสนใจที่ตัวเด็ก ตามอย่างที่เขาเป็นอยู่ในขณะปัจจุบัน
7. เมื่อเด็กสามารถพูดได้ดีขึ้น ให้นำสมาชิกในครอบครัวเข้าร่วมใน session ด้วย เพื่อให้เกิดการแผ่ขยายปฏิสัมพันธ์ที่ใช้วาจา พึงใช้ "ความคิดสร้างสรรค์ของผู้รักษา" ในการช่วยเหลือ ดังนั้นอาจใช้โทรศัพท์ ไมโครโฟน จอขยายภาพ หุ่นมือ เพื่อเปิดทางให้เด็กสื่อสารโดยผ่านเทคนิคการฉายภาพสะท้อนตนเอง ในหลายรูปแบบ
8. พึงระลึกว่าความวิตกกังวลเป็นปัญหาใหญ่ที่อยู่ ภายใต้ปัญหาที่เด็กแสดงออก ดังนั้นจึงต้องสร้างความรู้สึกปลอดภัย มั่นคง และเสริมพลังให้แก่เด็ก
9. ควรเสริมกิจกรรมที่ช่วยสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจแก่เด็กร่วมด้วย
10. สอนเด็กในเรื่องเทคนิคการผ่อนคลาย ฝึกลมหายใจ และฝึกจินตนาการทางบวก เพื่อช่วยจัดการกับความเครียด
11. ในเด็กบางราย การใช้โปรแกรมจัดการกับพฤติกรรมร่วมกับการให้รางวัลใช้ได้ผลดี ควรจัดเป็นลำดับขั้นย่อยๆ และให้คำชมบ่อยๆ นำบุคคลต่างๆ เข้ามาร่วม ซึ่งโดยมากควรเป็นพ่อแม่และพี่น้อง หรือเป็นคนที่เด็กยอมพูดด้วย
12. มีการสื่อสารกับผู้ปกครองและครูโดยสม่ำเสมอ เพื่อติดตามความก้าวหน้าของการรักษา



แนวทางการดูแลที่โรงเรียน
1. ดูแลให้แน่ใจว่าบุคลากรที่เด็กเกี่ยวข้องอยู่ด้วยนั้น รับรู้ด้วยความเข้าใจถึงปัญหาและความยากลำบากที่เด็กมีอยู่ โดยสำคัญอย่างยิ่งที่บุคลากรต่างๆ
2. ควรจะต้องเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้องของโรค Selection Mutism เนื่องจากมีคนจำนวนมากที่ไม่เข้าใจภาวะของโรคนี้ และไม่ทราบว่าตนเองควรจะต้องทำอย่างไร และอาจกระทำการซ้ำเติมปัญหาโดยมิได้ตั้งใจ
3. ช่วยเด็กลดความกังวล ด้วยการ
จัดให้เด็กได้ยู่ในชั้นเรียนตามปกติ
ไม่บังคับให้เด็กต้องพูด
ให้โอกาสเด็กสำหรับการกระทำกิจกรรมใดๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาพูด เช่น อ่านหนังสือในใจ การเขียน การใช้เกมกระดาน เป็นต้น
ให้เด็กมีเพื่อนคู่หู หรือใช้วิธีการเพื่อนช่วยเพื่อน และเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ
ให้เด็กมีโอกาสใช้ทางเลือก สื่อสารในรูปแบบอื่น ๆ ได้แก่
ใช้สัญญลักษณ์ กริยาท่าทาง บัตรคำ Email วิชาที่ต้องรายงานด้วยวาจา
ควรให้เด็กบันทึกเทปจากบ้าน แล้วนำเทปมาส่งแทน
ให้เพื่อนที่เด็กยอมพูดคุยด้วยเป็น "สะพานเชื่อม" ในการสื่อสารเบื้องต้นที่จำเป็น และช่วยเด็กในสถานการณ์ที่จำเป็นบางอย่าง พยายามให้เด็กได้ ร่วมทีมกับเพื่อนๆ และกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ ไม่ว่ากลุ่มนั้นจำเป็นจะต้องใช้การ สื่อสารทางวาจาหรือไม่ก็ตาม
พยายามรักษาตาราง เวลาประจำวันของเด็ก และหากจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ควรแจ้งให้เด็กทราบล่วงหน้า พยายามให้เด็กได้อยู่ในกลุ่มย่อยกลุ่มเดิม
สำหรับการทำงานในชั้นเรียน และไม่ควรเปลี่ยนกลุ่มและผู้ร่วมกลุ่มบ่อยๆ หากไม่จำเป็น แสดงออกถึงความรัก ความเข้าใจ และการยอมรับในตัวเด็กอย่างสม่ำเสมอ
แสดงความชื่นชมกับการแสดงออกของเด็ก ซึ่งแสดง ถึงความพยายามของเด็กที่จะสื่อสารกับผู้อื่น ทั้งที่เป็นวาจา หรือด้วยท่าทาง ก็ตาม แนวทางการดูแลของผู้ปกครอง

บ้านและครอบครัวเป็นสถานที่พิเศษสุดของเด็กทุกคน เป็นสถานที่ที่เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และระเบียบกฎเกณฑ์ทางด้านพฤติกรรม ดังนั้นแล้วครอบครัว ควรจะดูแลช่วยเหลือเด็กโดย
ทำบ้านให้เป็นสถานที่มั่นคงปลอดภัย และแวดล้อมด้วยความรักสำหรับเด็ก
ยอมรับและให้ความเข้าใจกับเด็ก ตามสภาวะที่เขาเป็นอยู่
อย่าใช้การข่มขู่ หรือลงโทษเพื่อจะให้เด็กพูด
สื่อแสดงความหวัง ให้ความมั่นใจกับเด็กว่าพ่อแม่ยินดีช่วยเหลือ และเขาจะสามารถเอาชนะปัญหานี้ได้
ให้โอกาสเด็กได้มีประสบการณ์ในกิจกรรมอื่น ที่นอกเหนือจากการเรียน เช่น ว่ายน้ำ กีฬา ศิลปะ นาฎศิลป์ เต้นรำ กิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้เด็กได้มองเห็นความสนุกสนาน ฝึกหัดใช้ศักยภาพที่ตนมี และสร้างเสริมความภาคภูมิใจในตนเองขึ้นมา
เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นกับเพื่อนหลังเวลาเรียน อาจเชื้อเชิญเพื่อนให้มาเล่นกับเด็กที่บ้าน เพื่อให้เด็กมีโอกาสเล่น และแสดงออกกับเพื่อน เมื่อเด็กเริ่มพูดกับเพื่อนแล้ว ก็อาจขยายพื้นที่ด้วยการพาเด็กๆ ออกไปเล่นกันที่สวนสาธารณะ หรือสถานที่นอกบ้านแหล่งอื่นๆ เพื่อให้เด็กๆ ได้สื่อสารกันภายนอกบ้านด้วย
ผลัดเปลี่ยนให้มีเพื่อนใหม่ๆ มาที่บ้านบ้าง ครั้งละหนึ่งหรือสองคน และใช้แนวทางการแผ่ขยายพฤติกรรมการคุยกับคนอื่นๆ ไปยังสถานทื่อื่นภายนอกบ้าน และไปยังบุคคลอื่นๆ เมื่อเด็กเริ่มมีกลุ่มเพื่อนแล้ว ก็อาจจัดกลุ่มเพื่อน เล่นกันที่บ้านเด็กคนอื่นๆ บ้าง
เมื่อต้องนำเด็กไปร่วมงานสังคมนอกบ้าน หรือสถานที่แห่งใหม่ที่ ไม่คุ้นเคย ควรจะไปถึงสถานที่ ให้เร็วสักหน่อย ให้เด็กมีโอกาสสำรวจตรวจตราสิ่งแวดล้อม สร้างความคุ้นเคย และไม่ควรบังคับให้เด็ก โต้ตอบกับคนอื่น หรือบังคับให้เล่น
สิ่งที่ท้าทายสำหรับพ่อแม่ที่สุด คือ การที่ต้องรู้จังหวะว่า เมื่อใดที่ควรช่วยผลักดันเด็กอยู่ด้านหลัง และเมื่อไรที่ควรปล่อยเขาเดินหน้าไปเอง สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ สร้างโอกาสให้เด็กเกิดสัมพันธ์ทางสังคมกับคนอื่น แต่ไม่ใช่สนับสนุนหรือให้รางวัลการแยกตนเองหรือมีพฤติกรรมถอยหนี สิ่งเหล่านี้ พ่อแม่ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยท่าทีที่ใส่ใจ แต่ไม่กังวล
ช่วยเด็กให้รู้จักฝึกผ่อนคลาย สร้างจินตภาพทางบวก และใช้กิจกรรมที่ให้เด็กได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวตนเองในชีวิตประจำกัน วิธีการเหล่านี้ช่วยเด็กลดความกังวลได้
ฝึก"ซ้อม บทบาท" ที่เด็กรู้สึกกังวลใจที่บ้านเสียก่อน วิธีการนี้ทำให้พ่อแม่มองเห็น และเข้าใจ ถึงความยากลำบากที่เด็กมี พร้อมกับช่วยสอนทักษะทางสังคมที่จำเป็นในสถานการณ์นั้น
ให้คำชม และรางวัล เมื่อเด็กพยายามสื่อสาร
ถ้าในครอบครัวมีปัญหา หรือมีความขัดแย้งกัน พ่อแม่ควรขอรับบริการปรึกษาปัญหาครอบครัว
มองหาเครือข่ายในการช่วยเหลือสำหรับตัวผู้ปกครองเอง เพราะถ้า ผู้ปกครองวิตกกังวลหรือคับข้องใจ เด็กมักจะรับรู้ได้ ดังนั้นผู้ปกครองต้องดูแลตนเองได้เสียก่อน จึงจะดูและเด็กได้



เอกสารอ้างอิง
1. สุวัฒนา ศรีพื้นผล เด็กที่พูดได้แต่ไม่พูดที่โรงเรียน วารสารศูนย์สุขวิทยาจิต มกราคม – ธันวาคม 2540
2. Sandra Coifman-Yohros Helping A Child with Selective Mutism selective Mutism Foundation Inc.


Cr : นายแพทย์ อุดม เพชรสังหาร ขอขอบคุณ : http://www.icamtalk.com

Total Rating ✔

9.2 stars – 2,789 reviews

More Reviews

แสดงความคิดเห็น

ทำไมน้องจึงไม่ยอมพูดที่โรงเรียน

ข่าวการศึกษา, News