สำรวจ
แนะนำ
สอบเข้า
ออนไลน์

ครูสอนพิเศษ คุณภาพอันดับ1

หาครูสอนพิเศษตัวต่อตัว คลิกเลย

ค้นหาด้วยเสียง
ค้นหาด้วยเสียงคลิกที่นี่

» » สรุปวิชาภาษาไทย ม.ปลาย เรื่องการอ่านวรรณคดี

03 ตุลาคม 2562

สรุปวิชาภาษาไทย ม.ปลาย เรื่องการอ่านวรรณคดี

ความหมายของวรรณคดี วรรณกรรม และวรรณศิลป์วรรณคดี ความหมายตามรูปศัพท์ หมายความว่า “แนวทางของหนังสือ” ทั้งนี้เพราะวรรณคดี เป็นคำสมาส ประกอบด้วย “วรรณ” จากรากศัพท์สันสกฤต “วรฺณ” แปลว่า หนังสือ และคำว่า คดี จากรากศัพท์บาลี คติ แปลว่า “การดำเนิน การไป ความเป็นไปแบบอย่าง ทาง ลักษณะ”

สรุปวิชาภาษาไทย ม.ปลาย เรื่องการอ่านวรรณคดี




การอ่านวรรณคดี

ความหมายของวรรณคดี  วรรณกรรม  และวรรณศิลป์วรรณคดี  ความหมายตามรูปศัพท์  หมายความว่า  “แนวทางของหนังสือ” ทั้งนี้เพราะวรรณคดี  เป็นคำสมาส  ประกอบด้วย “วรรณ” จากรากศัพท์สันสกฤต “วรฺณ”  แปลว่า  หนังสือ  และคำว่า  คดี  จากรากศัพท์บาลี  คติ  แปลว่า  “การดำเนิน  การไป  ความเป็นไปแบบอย่าง  ทาง  ลักษณะ”

ความหมายตามที่ใช้กันในสังคมไทย  หมายความว่า  “หนังสือที่ได้รับยกย่องว่าแต่งดี  และมีความหมายตามที่ภาษาอังกฤษ เรียกว่า  Literature  คำว่า  วรรณคดี  ปรากฏเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่ทรงตั้งโบราณคดีสโมสรขึ้น  ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๗ คำว่า “วรรณคดี”  จึงประกาศใช้อย่างเป็นทางการเนื่องด้วยพระบาทสมเด็จ  พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งวรรณคดีสโมสร  เพื่อส่งเสริมการแต่งหนังสือเพื่อรับพระราชทานรางวัลประทับตราพระราชลัญจกร

วรรณกรรม 

หมายถึง  งานเขียนในรูปบทกวีนิพนธ์ร้อยกรอง  และข้อเขียนทั้งหมดที่ใช้ภาษาร้อยแก้ว  โดยมีเนื้อหาและความหมายประกอบด้วย  ได้แก่  บทความ  สารคดี  นวนิยาย  เรื่องสั้น  เรียงความ  บทละคร  คอลัมน์ต่าง ๆ ในหนังสือพิมพ์  ตลอดจนข้อเขียนอื่น ๆ ซึ่งมีเนื้อหาและความหมายเป็นที่เข้าใจได้  สื่อความหมายได้ด้วย  ทั้งนี้ย่อมไม่เน้นความสำคัญของคุณภาพแต่เน้นจุดมุ่งหมายและวิธีการแสดงออกเท่านั้น

วรรณศิลป์ 

คือศิลปะในการแต่งหนังสือ  หัวใจของศิลปะทั้งหลายรวมทั้งวรรณศิลป์ก็คือ  สุนทรียภาพ  หรือความประณีตงดงาม  ได้แก่ความงามของภาษา  ความงามของเนื้อเรื่อง  ซึ่งกลมกลืน กับรูปแบบ  ความงามความมีสาระของข้อคิดเห็น  หรือแนวคิดที่แทรกแฝงอยู่ในเนื้อเรื่อง  ส่วนความงามที่สำคัญที่สุดของการสร้างวรรณกรรมก็คือ  วิธีแต่ง  วิธีแต่งที่สวยงามที่สุดก็คือการนำเอาองค์ประกอบต่าง ๆ ของวรรณกรรมมาผสมผสานเข้าด้วยกัน ๆ ได้อย่างประณีตนั่นเอง

จุดมุ่งหมายในการอ่านวรรณคดี

วิทย์  ศิวะศริยานนท์  จำแนกไว้ว่า  ผู้อ่านวรรณคดีมักจะมีจุดมุ่งหมายต่าง ๆ กันดังนี้
๑.  อ่านเพื่อความเพลิดเพลินอารมณ์
๒.  อ่านเพราะชอบว่าเป็นเรื่องที่ถูกกับนิสัยและชีวิตของตน
๓.  อ่านเพราะชอบว่าเป็นเรื่องที่แปลกและต่างกับที่ตนเคยประสบ
๔.  อ่านอย่างเพ่งเล็งข้อเท็จจริงเหมือนอ่านตำรา
๕.  อ่านเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ชีวิต
๖.  อ่านเพื่อรับรสความงามความไพเราะของบทประพันธ์

การวิจักษณ์และการวิจารณ์วรรณคดี

การวิจักษณ์วรรณคดี  
คือ   การเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งจนตระหนักในคุณค่าของวรรณคดีเรื่องนั้น ๆ ว่าเป็นศิลปะที่ถึงพร้อมเพียงใด  มีข้อดีข้อด้อยอย่างไร  มีข้อคิดที่สัมพันธ์กับชีวิตจริงเพียงใด   อันทำให้เกิดความซาบซึ้งในคุณค่า  ทำให้เกิดความหวงแหนอยากรักษาไว้ให้ดำรงเป็นสมบัติของชาติสืบไป

การวิจารณ์วรรณคดี  
คือ  การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวรรณคดีซึ่งมีอยู่หลายระดับ  เริ่มตั้งแต่ชอบหรือไม่ชอบวรรณคดีเรื่องนั้น ๆ แล้วคิดค้นหาเหตุผลมาอธิบายความรู้สึกของตนเองเป็นขั้นต่อไปของการวิจารณ์วรรณคดี







หลักทั่วไปในการพิจารณาคุณค่างานประพันธ์

องค์ประกอบที่สำคัญของงานประพันธ์  
งานประพันธ์ประกอบด้วยเนื้อหาและรูปแบบ งานประพันธ์เรื่องใดมีรูปแบบที่เหมาะสมกับเนื้อหา  ก่อให้เกิดความกลมกลืนอย่างมีศิลปะ  งานประพันธ์เรื่องนั้นก็จะได้รับความนิยมชมชอบจากผู้อ่านและจัดว่าเป็นวรรณคดี  บางเรื่องยังไม่เข้าขั้นวรรณคดีเราเรียกว่า  วรรณกรรม

เนื้อหา  
หมายถึง  เรื่องราวที่ผู้แต่งถ่ายทอดถึงผู้อ่าน  ในเนื้อหานั้นจะมีใจความสำคัญหรือที่เรียกว่า  สาระ
สำคัญและ สารรอง ๆ ลงไป
รูปแบบ หมายถึงลักษณะรวมของงานประพันธ์ใช้ในการนำเสนอเนื้อหาไปสู่ผู้อ่าน อาจเป็นร้อยกรองหรือร้อยแก้วก็ได้

ส่วนคำว่า  สารคดี 
หมายถึง งานเขียนที่เป็นเรื่องจริง  มุ่งที่จะให้ความรู้  แต่ก็คำนึงถึงความพึงพอใจและความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านด้วย
บันเทิงคดี  เป็นงานเขียนที่สร้างสรรค์ขึ้น โดยอาจมีเค้าความจริงหรือไม่ก็ได้  ตัวละครเป็นตัวสมมุติขึ้นไม่ใช่บุคคลที่มีตัวจริง

การวิเคราะห์งานประพันธ์

ขั้นตอนการวิเคราะห์งานประพันธ์  สามารถแบ่งเป็นขั้น ๆ ได้ดังนี้
๑.  พิจารณาว่างานประพันธ์นั้นใช้รูปแบบใด
๒.  แยกเนื้อหาเป็นส่วน  เช่น  ถ้าเนื้อหาเป็นเรื่องเล่า  ชี้ให้เห็นว่าใคร  ทำอะไร  ที่ไหน  อย่างไร  เมื่อไร
๓.  แยกพิจารณาแต่ละส่วนให้ละเอียดว่า  ประกอบกันอย่างไรหรือประกอบด้วยอะไรบ้าง
๔.  พิจารณาให้เห็นว่าผู้เขียนใช้วิธีการใดนำเสนอเรื่องนั้น ๆ

กระบวนการวินิจสาร

เมื่อดำเนินการตามขั้นตอนวิเคราะห์งานประพันธ์แล้วจึงวินิจสาร  แบ่งเป็นขั้นได้ ดังนี้
๑.  พิจารณาว่าตอนใดเป็นข้อเท็จจริง  ให้ความรู้  ตอนใดเป็นข้อคิดเห็นหรือทรรศนะ  ตอนใดแสดงออกถึงอารมณ์หรือความรู้สึก
๒.  พิจารณาว่าข้อเท็จจริง  ข้อความรู้  ทรรศนะ  อารมณ์  หรือความรู้สึกนั้น  ผู้เขียนมีเจตนาอะไร  ต้องการให้ผู้อ่านหรือผู้รับสารเกิดปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไร  รวมทั้งให้แง่คิดต่าง ๆ แก่ผู้อ่านอย่างไรบ้าง
๓.  พิจารณาเป็นขั้นสุดท้ายว่า  สาระสำคัญที่สุดของเรื่องนั้น ๆ คืออะไร  และสารที่สำคัญรอง ๆ ลงไปคืออะไร  สิ่งที่จะละเว้นมิได้ในการวิเคราะห์และวินิจสารงานประพันธ์ทุกชนิดคือ  การใช้ถ้อยคำสำนวน  เหมาะกับระดับและประเภทของงานเขียนหรือไม่  เช่น  การบรรยาย  ผู้ประพันธ์ต้องเลือกใช้ภาษาเขียน  ไม่ควรใช้สำนวนแบบการสนทนาระหว่างบุคคล  เป็นต้น

ในการวิเคราะห์และวินิจสารวิเคราะห์และวินิจสารจะเกิดความคิดแทรกและความคิดเสริมขึ้น

ความคิดแทรก  คือ  

ความคิดที่เกิดขึ้นในสมองของเรา  ระหว่างที่อ่านงานประพันธ์  ซึ่งมิได้ปรากฏอยู่ในงานเขียน

ความคิดเสริม  คือ  

ความคิดอีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแก่ผู้อ่านหลังจากที่อ่านจบ  และได้วิเคราะห์ได้วินิจสารเสร็จสิ้นไปแล้ว  
ความคิดเสริมอาจต่างเรื่อง ต่างประเด็นไปจากสารที่ปรากฏในงานเขียน แต่จะมีความเกี่ยวเนื่องกัน  อาจมากหรือน้อยแล้วแต่บุคคลและโอกาส

การพิจารณาคุณค่าของงานประพันธ์

๑.  คุณค่าด้านวรรณศิลป์  การพิจารณาคำประพันธ์ที่เป็นร้อยกรอง  งานประพันธ์ที่มีคุณ๕นั้นจะต้องมีรูปแบบที่เหมาะสมกับเนื้อหา  มีวิธีแต่งที่น่าสนใจ  ใช้ถ้อยคำไพเราะสละสลวย  สื่ออารมณ์และสื่อความคิดสร้างสรรค์
ถ้าเป็นร้อยแก้วประเภทสารคดี พิจารณาว่างานนั้นมีรูปแบบเหมาะสมกับเนื้อหา มีวิธีเสนอเรื่องที่น่าสนใจ  ชวนให้อ่านเพลิด  ให้ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ อย่างมีหลักฐานและเหตุผล  ใช้สำนวนภาษาที่กะทัดรัด  สื่อความหมายได้ชัดเจน  และมีสารที่แสดงความคิดสร้างสรรค์หรือไม่
ส่วนวรรณกรรมร้อยแก้วประเภทบันเทิงคดีนั้น  ถ้ามีรูปแบบเป็นเรื่องสั้นหรือนวนิยาย  เราก็พิจารณาโดยตั้งเกณฑ์ว่า  จะต้องมีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี  ระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น  สาระสำคัญที่สุดสัมพันธ์กับโครงเรื่องและตัวละคร  มีวิธีการประพันธ์ที่แปลกใหม่น่าสนใจ    ในเรื่องมีจุดขัดแย้งก่อให้เกิดความสะเทือนอารมณ์  ภาษาที่ใช้บรรยายและพรรณนาสละสลวย  ชวนให้นึกเห็นภาพ  คำพูดเหมาะสมกับบุคลิกภาพของตัวละคร  และให้สารที่มีความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับชีวิตและสังคมอย่างไร
๒.  คุณค่าด้านสังคม  การพิจารณาคุณค่างานประพันธ์ด้านสังคม  ควรศึกษางานประพันธ์ว่ามีส่วนเกี่ยว
ข้องกับสังคมอย่างไร  สะท้อนให้เห็นภาพของสังคมอย่างไร  ชี้นำสังคมให้พัฒนาไปมากน้อยเพียงใด  สังคมที่มีส่วนเป็นรูปธรรม  เช่น  หมู่คน  วัตถุ  และส่วนที่เป็นนามธรรม  เช่น  ขนบประเพณี  ค่านิยม  ที่มีร่วมกันในวรรณคดี  นักเขียนและกวีย่อมแสดงภูมิปัญญาของตนออกมา  ผู้อ่านจึงสามารถมองเห็นชีวิตความเป็นอยู่  ค่านิยม  และจริยธรรมของคนในสังคมได้อย่างเด่นชัด

หลักทั่วไปในการพิจารณาแนวคิดและค่านิยมในงานประพันธ์

แนวคิดในงานประพันธ์
แนวคิดในงานประพันธ์  มี  ๒  ลักษณะดังนี้
๑.  แนวคิดสำคัญ  
หรือที่เรียกว่า  แก่นเรื่อง  หรือสาระสำคัญของเรื่อง  ซึ่งหมายถึง  ความคิดสำคัญที่ผู้แต่งใช้เป็นแนวทางในการผูกเรื่องหรือความคิดอื่นที่แทรกอยู่ในเรื่อง
๒.  แนวคิดอื่น ๆ 
หมายถึง  ความคิดหรือข้อคิด  หรือสารที่ผู้แต่งแทรกไว้ในเรื่อง




ค่านิยม   

ความหมายของคำว่าค่านิยม  มีอยู่  ๒   ความหมาย  คือ
๑.  ค่านิยม  
ที่หมายถึงความรู้สึก  ความคิด  ความเชื่อของมนุษย์หรือของคนใดคนหนึ่ง  กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่า  สิ่งนั้นมีค่า  มีความหมาย  สำคัญต่อคน  กลุ่มของตน  ค่านิยมจึงเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมให้หรือกลุ่มคนนั้นเลือกทำหรือไม่ทำสิ่งใด
๒.  ค่านิยม  
ที่หมายความถึง  ความเชื่อถือ  ยึดถือปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต  อาจเป็นเรื่อง
ครอบครัว  สังคม  การเมือง  เศรษฐกิจ  การศึกษา  จริยธรรม  เป็นต้น  ค่านิยมอาจเกี่ยวพันกับวัฒนธรรม  ซึ่งหมายถึงแบบแผนของชีวิตที่แสดงให้เห็นถึงความชอบสนุกสนาน  ความนิยมทำบุญสุนทาน
การพิจารณาค่านิยมนี้สังเกตได้จากสิ่งที่คนสนใจ  อยากจะได้  อยากจะเป็น  หรือสิ่งที่คนถือว่ามีความจำเป็นต้องปฏิบัติ  นอกจากนี้ค่านิยมยังอาจถ่ายทอดได้ด้วยการปลูกฝังและให้เห็นแบบอย่าง  และยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อวัย  ความรู้  ประสบการณ์  และสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย



Total Rating ✔

9.2 stars – 2,789 reviews

More Reviews

แสดงความคิดเห็น

สรุปวิชาภาษาไทย ม.ปลาย เรื่องการอ่านวรรณคดี

เรียนภาษาไทย, สรุปภาษาไทย ม.ปลาย