วิศวกรรมการบินและอวกาศ
สาขาวิชานี้เกิดขึ้นจากการผสมผสานความรู้หลายศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นอากาศพลศาสตร์ โครงสร้างและวัสดุ เครื่องกล ระบบควบคุมการบิน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบและวิเคราะห์ยานพาหนะที่สามารถเคลื่อนที่ในอากาศและอวกาศ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วรูปแบบการเรียนการสอนจะมีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติควบคู่กันไป เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าใจว่าการสร้างเครื่องบินหนึ่งลำต้องคำนึงถึงปัจจัยอะไรบ้าง แต่ละชิ้นส่วนมีหน้าที่อย่างไร และมองเห็นภาพรวมของอุตสาหกรรมการบิน
คุณสมบัติของผู้เรียน
- มีความทะเยอทะยาน ชอบความท้าทาย และมีความคิดสร้างสรรค์
- มีความชำนาญในการแก้ปัญหาและมีหัวทางด้านเทคนิค
- มีความรับผิดชอบสูง ละเอียดรอบคอบ ทำงานภายใต้ความกดดันได้ดี
- ชื่นชอบการรื้อชิ้นส่วนอุปกรณ์เพื่อค้นหาการทำงานว่าเป็นเช่นไร
- สนใจเครื่องจักร เครื่องกล และเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย
- สนใจแบบจำลองคอมพิวเตอร์และการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบ
- ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการควบคุมทางอากาศและตรรกะในการผลิตเครื่องบิน
- มีความเชี่ยวชาญในวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และภาษาอังกฤษ
สาขาวิชาย่อย
1. หลักการอากาศพลศาสตร์ (Aerodynamics)ศึกษาเกี่ยวกับแรงของอากาศที่ส่งผลต่อการเคลื่อนที่ของเครื่องบิน
2. ความรู้ทางโครงสร้างอากาศยาน (Structures)
ศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างของเครื่องบิน การเลือกใช้วัสดุ ไปจนถึงการประกอบเครื่องบิน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดเป็นเรื่องสำคัญ
3. พื้นฐานของระบบขับดัน (Propulsion)
ศึกษาเกี่ยวกับหลักการออกแบบเครื่องยนต์ที่ทำให้เครื่องบินสามารถเอาชนะแรงต้านและมีพลังในการขับเคลื่อนเต็มสมรรถนะ
4. ระบบควบคุมอากาศยาน (Dynamics & Control Systems)
ศึกษาเกี่ยวกับกลไกการควบคุมและการตอบสนองของเครื่องบิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางการบิน
วิชาหลักที่เรียน
- ความรู้พื้นฐานที่นักศึกษาสาขาวิศวกรรมการบินและอวกาศต้องเรียน มีความใกล้เคียงกับสาขาวิศวกรรมเครื่องกล แต่จะมีวิชาเฉพาะบางส่วนที่แตกต่างกันออกไป
- พื้นฐานวิศวกรรมอากาศยาน
- อากาศพลศาสตร์
- เครื่องยนต์และการขับดันอากาศยาน
- โครงสร้างอากาศยาน
- เทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียม
- เทคโนโลยีการบิน
- การจัดการการบิน
- วัสดุอากาศยาน
- การออกแบบระบบอากาศยาน
- การซ่อมบำรุงอากาศยาน
อาชีพน่าสนใจ
- เจ้าหน้าที่บริหารจัดการการจราจรทางอากาศ
- เจ้าหน้าที่บริหารการจัดการอุตสาหกรรมและธุรกิจการบินและอวกาศ
- เจ้าหน้าที่ควบคุมมาตรฐานการเดินอากาศ
- วิศวกรโครงสร้างอากาศยาน
- วิศวกรฝ่ายวางแผนการซ่อมบำรุงอากาศยานและชิ้นส่วนประกอบ
- วิศวกรโครงการ
- วิศวกรเครื่องจักรใหญ่
- วิศวกรออกแบบและสร้างอากาศยาน เครื่องยนต์เจ็ท ดาวเทียม
- วิศวกรควบคุมวงโคจรและสถานีดาวเทียม
- หากเป็นงานที่ตรงสาย ส่วนใหญ่งานของวิศวกรการบินในประเทศไทยจะเกี่ยวข้องกับการซ่อมบำรุงอากาศยานเป็นหลัก หรือผลิตเครื่องบินเล็กเพื่อใช้ในงานสื่อสาร เกษตรกรรม สำรวจทรัพยากรธรรมชาติ และงานทางการทหาร แต่ถ้ามีโอกาสศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้นและทำงานในต่างประเทศ ขอบเขตงานก็จะกว้างขวางขึ้น เช่น ทำงานกับบริษัทผลิตเครื่องบินขนาดใหญ่หรือองค์กรระดับโลกอย่างนาซ่าได้
แนวโน้มในอนาคต
ปัจจุบันทั่วโลกมีสายการบินพาณิชย์อยู่ประมาณ 300 แห่ง รวมแล้วมีเครื่องบินพาณิชย์ 27,000 ลำ และมีการคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ.2022 น่าจะเพิ่มจำนวนไปถึง 35,600 ลำ ส่วนหนึ่งก็มาจากความนิยมในการใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก และแน่นอนว่าความต้องการบุคลากรด้านวิศวกรรมการบินย่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้การเรียนสาขาวิชานี้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากทีเดียวเรียนต่อวิศวกรรมการบินและอวกาศในต่างประเทศ
ปัจจุบันมีหลายประเทศทั้งในแถบอเมริกา ยุโรป และเอเชียที่เปิดสอนสาขาวิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ ไม่ว่าจะเป็น- สหรัฐอเมริกา
- สหราชอาณาจักร
- ออสเตรเลีย
- เยอรมนี
- มาเลเซีย
- ญี่ปุ่น
- เกาหลีใต้
- ฮ่องกง
- อินเดีย
- จีน
บทสัมภาษณ์นักศึกษา : วิศวกรรมการบินและอวกาศ
- ชื่อ: นายวิศว์ ศรีพวาทกุล
- จากประเทศ : ประเทศไทย
- จบการศึกษาหรือที่กำลังศึกษาอยู่ : วิศวกรรมการบินและอวกาศ
- สถานศึกษา : มหาวิทยาลัยแครนฟิลด์
- ระดับการศึกษา/หลักสูตรที่เรียน : ป.เอก
ทำไมคุณถึงสมัครเข้าเรียนต่อที่สหราชอาณาจักรและสาเหตุในการตัดสินใจที่เลือกเรียนในสถาบันการศึกษานี้
- เป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงในสาขาวิชาที่ต้องการเรียน (วิศวกรรมการบิน), ตำราเรียนเขียนโดยอาจารย์จากสถาบันนี้ อาจารย์ที่เคยสอนเป็นศิษย์เก่าของสถาบันนี้เป็นผู้แนะนำ
ทำไมถึงเลือกมาอยู่เรียนที่อังกฤษ
- ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียน จึงไม่ต้องไปเสียเวลาเริ่มเรียนภาษาที่สาม, หลักสูตรใช้เวลาสั้น เมื่อเทียบกับประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษประเทศอื่นๆ จึงมีหลักสูตรที่แน่นและมีมาตรฐานสูง
คุณรู้สึกอย่างไรในช่วงหนึ่งเดือนแรกของการใช้ชีวิตในต่างประเทศ
- เงียบมาก เนื่องจากสถาบันตั้งอยู่ในที่ห่างชุมชน แต่เมื่ออยู่ๆไปก็เริ่มชินกับความเงียบ และเริ่มเห็นว่าบรรยากาศช่วยส่งเสริมให้มีสมาธิกับการเรียนได้มาก
สถาบันการศึกษาของคุณมีส่วนช่วยอย่างไรบ้าง ในเรื่องของการปรับตัวเพื่อการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยในช่วงแรกของการเรียน
- อาจารย์ที่ปรึกษาพาเดินชมสถานที่ต่างๆในวันแรก มหาวิทยาลัยมีจัดอบรมต่างๆ ทั้งด้านการเรียน, การใช้บริการต่างๆ มีชมรมต่างๆ ให้เข้าร่วมกิจกรรมตามความสนใจ
คุณพักอยู่ที่ไหนและหาที่พักอย่างไรให้เหมาะสมกับคุณ
- เมื่อมาถึง ได้หอพักนักเรียนในมหาวิทยาลัย แต่เนื่องจากจำกัดระยะเวลาอยู่ได้แค่สองปี เมื่อใกล้หมดสัญญาจึงได้ย้ายออก โดยหาบ้านเช่าในหมู่บ้านผ่านบริษัทนายหน้า และได้เช่าบ้านอยู่พร้อมกับนักเรียนไทยอีกคน
คุณเคยมีประสบการณ์ในการปรับตัวและความแตกต่างของวัฒนธรรมเมื่อคุณอยู่ที่อังกฤษบ้างไหม
- ไม่ค่อยมีปัญหา เนื่องจากผู้คนค่อนข้างสุภาพและคิดถึงผู้อื่่น ช่วงแรกต้องปรับตัวในเรื่องการขับรถ เพราะคนที่นี่เคารพกฏจราจรและขับรถสุภาพกว่ามาก
คุณจ่ายค่าเล่าเรียนของคุณอย่างไร
- ทุนรัฐบาล (กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)
คุณทำอะไรต่อเมื่อคุณเรียนจบหลักสูตร คุณจะกลับไปยังประเทศของคุณหรือไม่
- กลับไปทำงานในตำแหน่งอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยที่ได้รับทุนมา
ความท้าทายที่มากที่สุดที่คุณเผชิญหน้าในช่วงปีแรกคืออะไร
- การคิดหัวข้อและดำเนินงานวิจัยด้วยตัวเอง อาจารย์ที่ปรึกษาปล่อยให้ทำการค้นคว้าในวงกว้างไปด้วยตัวเองก่อน แล้วจึงค่อยให้คำแนะนำให้กลับมาในแนวทางที่เหมาะสม
การเรียนการสอนที่นี่นับว่าแตกต่างจากประเทศของคุณหรือไม่ อย่างไร
- ไม่เห็นความแตกต่างชัดเจน แต่จากประสบการณ์รู้สึกว่าจะส่งเสริมให้นักเรียนค้นคว้าและศึกษาเพิ่มเติมค่อยนข้างมาก
สิ่งที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการเรียนในต่างประเทศ
- มีอิสระในการเลือกหัวข้อและพัฒนางานวิจัยของตัวเอง มีโอกาสทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม และเห็นประโยชน์ได้ชัดเจนในการนำไปใช้งานจริง ได้ทำงานร่วมกับคนจากหลากหลายวัฒนธรรม เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ
บทเรียนที่มีค่าที่สุดที่คุณได้เรียนรู้เมื่อคุณเริ่มต้นเรียนต่อ
- เรียนในสิ่งที่รัก แล้วจะทำได้ดี
คุณมีคำแนะนำที่จะให้กับนักเรียนต่างชาติคนอื่นๆ อย่างไร
- เชื่อมั่นในตนเอง ทำอย่างเต็มความสามารถ เพื่อจะได้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง
Cr : https://www.hotcourses.in.th/study-abroad-info/subject-guides/aerospace-engineering/
Total Rating ✔
9.2 stars – 2,789 reviews
More Reviews
อ่านรีวิว ทั้งหมดคลิก
แสดงความคิดเห็น
แนะนำหลักสูตรและสาขา วิศวกรรมการบินและอวกาศ
สอบทุนนักบิน, News, Student Pilot