สำรวจ
แนะนำ
สอบเข้า
ออนไลน์

ครูสอนพิเศษ คุณภาพอันดับ1

หาครูสอนพิเศษตัวต่อตัว คลิกเลย

ติวสอบทุนนักบิน Student Pilot

ค้นหาด้วยเสียง
ค้นหาด้วยเสียงคลิกที่นี่

» » เคล็ดลับการสอบเข้าเป็นนักบินการบินไทย

20 พฤศจิกายน 2561

เคล็ดลับการสอบเข้าเป็นนักบินการบินไทย

อาจจะสามารถเรียกได้ว่านี่คือ….เคล็ดลับฯ การสอบเข้าเป็นนักบินการบินไทยนั้นก็ไม่แตกต่างไปจากการสอบหรือการสมัครเข้าทำงานในตำแหน่งใดๆเลย

เคล็ดลับการสอบเข้าเป็นนักบินการบินไทย

อาจจะสามารถเรียกได้ว่านี่คือ….เคล็ดลับฯ   

การสอบเข้าเป็นนักบินการบินไทยนั้นก็ไม่แตกต่างไปจากการสอบหรือการสมัครเข้าทำงานในตำแหน่งใดๆเลย

จากเดิมผมเคยมีความคิดว่าตัวเองนั้นเป็นนักบินที่จัดได้ว่าอยู่ในระดับแนวหน้า เมื่อสมัยสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารผมสามารถสอบได้อันดับที่ 3 เป็นถึงระดับหัวหน้าตอน พอมาเป็นศิษย์การบินยังสามารถได้ที่หนึ่งภาคอากาศอีก  นอกจากนี้ยังมีโอกาศได้ไปฝึกบินเพื่อเป็นนักบินไอพ่นที่โรงเรียนการบินทหารเรืออเมริกาอีกตั้งเกือบ 2 ปี     คุณสมบัติอันเพรียบพร้อมขนาดนี้หากลองสอบการบินไทยมีหรือจะไม่ได้  

แล้วเป็นอย่างไรครับ?
……..ร่วง……
ร่วงเหมือนนกปีกหัก  

จากประสบการณ์.ในการสอบเข้าการบินไทยครั้งแรกผมเองรู้สึกผิดหวังและสับสนจนเกิดอาการขาดความมั่นใจในตนเองขึ้นทั้งๆที่ก่อนหน้านี้นั้นเป็นผู้ที่มีความมั่นใจในตนเองสูงมาก ไม่เข้าใจเลยว่าทำไมเราถึงไม่ประสบความสำเร็จในการสอบและเมื่อผมตัดสินใจจะลองสอบดูอีกครั้งซึ่งเป็นเหมือนการพิสูจน์สิ่งที่ยังค้างคาใจอยู่ผมเลยไม่อยากทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นอีก   ผมได้ทำการศึกษาและค้นคว้าในหลายๆเรื่องที่คิดว่าเกี่ยวข้องกับการสอบมากพอสมควรไม่ว่าจะเป็นทั้งการอ่านและการสอบถามรวบรวมข้อมูลจากผู้มีประสบการณ์ทั้งที่สอบได้และสอบไม่ได้  วิเคราะห์ดูแล้วพบว่าในการสอบเข้าเป็นนักบินการบินไทยในครั้งแรกนั้นตนเองมีข้อผิดพลาดด้วยกันหลายเรื่องซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิด  ผมได้กล่าวไว้ว่าหากผมวิเคราะห์ผิดโอกาสที่จะได้เป็นนักบินการบินไทยคงไม่มี     แต่ผมสามารถผ่านการสอบครั้งนี้มาได้ดังนั้นผมจึงกล้าพอที่จะรับรองได้ว่าสิ่งที่ผมจะบอกให้พวกเราได้เรียนรู้ต่อไปนี้นั้นเป็นสาระสำคัญและเป็นหัวใจของการสอบเข้าเป็นนักบินการบินไทย 
    
อาจจะสามารถเรียกได้ว่านี่คือ….เคล็ดลับฯ   
การสอบเข้าเป็นนักบินการบินไทยนั้นก็ไม่แตกต่างไปจากการสอบหรือการสมัครเข้าทำงานในตำแหน่งใดๆเลย   ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อจะได้เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่เขาต้องการ  พวกเราเป็นทหารคงคุ้นเคยกับคำกล่าวของ...ซุนวู...ที่ว่า “ รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง “ นั่นเป็นคำพูดที่เป็นอมตะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตได้เป็นอย่างดี  โดยเฉพาะในเรื่องของการแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นผู้ชนะ   หากท่านได้อ่านเอกสารฉบับนี้และปฏิบัติตามข้อแนะนำต่างๆอย่างใช้สติปัญญาโอกาสที่ท่านจะได้เป็นนักบินการบินไทยนั้นย่อมสูงกว่าเดิมมากแน่ๆ       เชื่อผมสิ…แต่ผมคงไม่สามารถยืนยันได้ว่าทุกท่านที่ได้อ่านจะสามารถสอบผ่าน  เพราะว่าต่างคนต่างมีพื้นฐานความสามารถในการรับรู้ทำความเข้าใจที่แตกต่างกันออกไปและที่สำคัญคือมีการปรับปรุงจิตใจและนิสัยต่างๆได้มากน้อยต่างกัน

บทที่ ๑ คุณสมบัติของนักบินพานิชย์หรือนักบินสายการบิน

ผมต้องขอเริ่มในบทที่๑ ด้วยหัวข้อนี้ก่อนเพื่อให้สอดคล้องกับคำกล่าวนำในเบื้องต้นที่ว่า รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง   ถ้าจะพูดถึงการเป็นนักบินนั้นเราสามารถจำแนกได้หลายประเภทขึ้นอยู่กับภารกิจหรือจุดมุ่งหมายในการบินที่เราได้รับ  บางท่านอาจเป็นนักบินเพื่อความสำราญเป็นงานอดิเรกเพื่อความเพลิดเพลิน  บางท่านก็เป็นนักบินทหารที่มีภารกิจในการรบสามารถปฏิบัติการบินได้แม้ว่าจะต้องผจญกับความเสี่ยง   บางท่านก็ชอบการบินชนิดที่เรียกว่าเอามันยิ่งเสี่ยงยิ่งมันเช่นนักบินลองเครื่อง นักบินผลาดแผลง  แต่สำหรับนักบินพานิชย์นั้นก็มีรูปแบบของการบินที่แตกต่างออกไป   เมื่อผมกล่าวมาถึงตรงนี้แล้วหลายท่านคงพอจะเริ่มเห็นภาพของคำว่า  รู้เขา  ขึ้นมาลางๆบ้างนะครับ   ถูกต้องแล้วครับการที่เราจะไปเป็นนักบินสายการบินเราก็ต้องทราบให้ได้ว่านักบินประเภทนั้นๆเขามีลักษณะของการทำงานด้านการบินอย่างไร    ต่อไปนี้ผมจะขอขยายความถึงคุณสมบัติของนักบินพานิชย์หรือนักบินสายการบินให้พวกท่านได้เข้าใจมากขึ้น

เมื่อพูดถึงคุณสมบัติพื้นฐานในด้านการบิน  ผมเองในฐานะที่จบมาจากโรงเรียนการบินกองทัพอากาศเหมือนท่านทั้งหลายนั้นถือได้ว่ามีความรู้ความสามารถทางด้านการบินพอเพียงต่อความต้องการแล้ว   มาตราฐานการฝึกอบรบจากโรงเรียนการบินกำแพงแสนถือได้ว่าครบถ้วนตามที่สายการบินต้องการ   แต่อย่าลืมนะครับว่านักบินทหารที่เราได้ถูกฝึกอบรมตลอดจนมีประสบการณ์ในการทำงานนั้นมีความแตกต่างจากการเป็นนักบินสายการบินอยู่มากเนื่องจากความต้องการทางทหารนั้นแตกต่างจากสายการบินเป็นอย่างมาก   งานทหารเป็นงานที่ลงทุนไปโดยไม่ได้หวังกำไรออกมาเป็นตัวเลขกล้าเสี่ยงแม้จะขาดทุนทั้งตัวเงินและชีวิตของบุคคลากร ส่วนสายการบินนั้นต่างออกไป

สายการบินต้องการอะไร ….?  
รายได้หรือกำไรคือคำตอบ    
การที่สายการบินจะมีรายได้ที่ดีนั้นมาจากไหน  ….?  

มีผู้โดยสารมาใช้บริการมากๆไงละครับ    
นั่นหมายความว่าสายการบินนั้นจะต้องมีการบริการที่ดี มีความปลอดภัยสูงได้รับความไว้วางใจจากผู้โดยสารในการเลือกใช้บริการ    นอกจากนี้ในการปฏิบัติต่างๆยังต้องสามารถกระทำโดยประหยัดต้นทุน  ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการปฏิบัตโดยใช่เหตุหรือเพียงเพราะว่าเจ้าหน้าที่หรือนักบินไม่ได้มีการเตรียมการที่ดี    เพราะฉนั้นคุณสมบัติของนักบินพานิชย์ที่จะต้องทำการบินไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกภายใต้กฏการบินที่มากมายในสภาพของการจราจรทางอากาศที่คับคั่งเพื่อให้ได้สิ่งต่างๆตามที่ผู้โดยสารและสายการบินต้องการก็คือ

- มีความรู้ความสามารถตามที่กำหนด
- มีการเตรียมตัวที่ดี
- มีความละเอียดรอบคอบ
- มีมนุษยสัมพันธ์สูง
- มีความมั่นใจในตนเอง
- มีความเป็นผู้นำ
- มีระเบียบวินัยที่ดี
- สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี
- ปฏิบัติภารกิจด้วยข้อมูลที่ถูกต้องมั่นใจเสมอ
- หลีกเลี่ยงการเสี่ยงในทุกรูปแบบ
- อยู่บนโลกของความจริงไม่ชอบเพ้อฝันหรือหลอกลวง
- คิดถึงผลประโยชน์ของสายการบินเป็นหลัก

นี้คือตัวอย่างเบื้องตนที่ผมคิดได้หากแต่ความจริงนั้นมีอีกหลายข้อซึ่งรายละเอียดนั้นหาดูได้จากหนังสือ Airline pilot interviews  โดย IRV  JASINSKI และ The airline career and interview manual โดย captian bob norris และ danny mortensen ซึ่งผมอยากให้ทุกท่านได้หามาอ่านเองเพื่อความเข้าใจและยังได้รับประโยชน์ในการฝึกฝนภาษาอังกฤษของท่านไปในตัวด้วย



บทที่ ๒ ตัวท่านเองเป็นนักบินประเภทไหนอย่างไร

บทนี้เป็นเรื่องที่อาจเรียกว่าง่ายก็ง่าย…
หรืออาจเรียกว่ายากก็ยากเพราะธรรมชาติของคนเรานั้นไม่ค่อยยอมรับข้อบกพร่องของตนเองพยายามสรรหาเหตุผลต่างๆมาประกอบจนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่าตนเองนั้นดีอยู่แล้วสมบูรณ์แล้ว    

ดังนั้นการที่ท่านจะสามารถเข้าใจและได้รับประโยชน์จากบทนี้ท่านต้องเริ่มจากการทำใจให้ได้ยอมรับตนเองก่อนว่าไม่มีมนุษย์คนใดในโลกที่จะสมบูรณ์แบบแม้แต่ตัวท่านเอง   จากนั้นท่านจึงเริ่มหาข้อมูลของตัวท่านโดยเริ่มจากสอบถามว่าท่านเป็นคนอย่างไรจากคนใกล้ชิดที่สนิทสนมกับท่านมากพอที่จะพูดความจริงกับท่านและก็ขอให้ท่านจงยอมรับในข้อวิจารย์เหล่านั้นด้วยใจอันเป็นกลาง   ซึ่งอาจจะตรงบ้างไม่ตรงบ้างไม่เป็นไรครับ      รวบรวมข้อมูลจากหลายๆท่านแล้วลองนำมาวิเคราะห์ว่าอันไหนตรงอันไหนไม่ตรง    จากนั้นนำมาสรุปหาข้อบกพร่องของตนว่ายังมีสิ่งใดที่ไม่เป็นที่ต้องการของนักบินพานิชย์บ้างโดยนำไปเชื่อมโยงจากความรู้ที่ท่านได้รับในบทที่ ๑

ขั้นตอนต่อไปก็คือการปรับปรุงตัวเองเมื่อท่านรวบรวมได้แล้วว่าท่านยังขาดสิ่งใดก็ขอให้ท่านพยายามเติมหรือปรับปรุงตัวท่านเองในสิ่งที่ท่านยังขาดอยู่    เช่นท่านเป็นคนใจร้อนชอบเร่งรีบในการปฏิบัติอะไรก็ตามจนบางครั้งขาดความละเอียดรอบครอบท่านก็พิจารณาแก้ไขฝึกฝนจนท่านเองมีความใจเย็นลงกว่าเดิม  หรือท่านอาจเป็นคนที่เก่งมีความสามารถสูงจนบางครั้งไม่ค่อยจะหยุดฟังความคิดเห็นของคนอื่นโดยเฉพาะผู้ที่อาวุโสต่ำกว่าซึ่งลักษณะอาการเช่นนี้เราเรียกว่ามีความมั่นใจในตนเองสูง   ต้องพยายามฉุกคิดฟังผู้อื่นบ้าง    สิ่งต่างๆเหล่านี้ท่านอาจต้องใช้เวลาในการปรับปรุงบางท่านอาจใช้มากบางท่านอาจใช้น้อยหรือบางครั้งบางเรื่องท่านอาจไม่สามารถแก้ไขได้เพราะว่ามันเป็นนิสัยหรือสันดานแล้ว   แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าท่านจะไม่สามารถเป็นนักบินพานิชย์หรือสายการบินได้    หากแต่ว่ามีความจำเป็นจริงๆที่ท่านต้องรู้ให้ได้ว่าท่านยังมีคุณสมบัติข้อไหนที่ไม่ตรงกับนักบินสายการบินอยู่   และเมื่อถึงวันที่ท่านต้องไปถูกทดสอบผมขอรับรองว่าไม่มีทางที่นักจิตวิทยาคนใดจะสามารถเรียนรู้ตัวเราทั้งชีวิตได้ภายในเวลา๒-๓ ชั่วโมงนั่นหมายความว่าเขาคงจะไม่สามารถรู้ข้อบกพร่องของเราทั้งหมดได้ แต่ด้วยกรรมวิธีของเขาสามารถหาจุดอ่อนที่สำคัญของเราพบแน่ๆดังนั้นท่านต้องไม่ยอมให้เขารับทราบถึงความบกพร่องของท่านในเรื่องใดๆก็ตาม   ท่านต้องหาวิธีหลบหลีกและหลีกเลี่ยงเอาเองส่วนใหญ่จะเป็นวิธีในการตอบคำถามการพูดให้ดูว่าสิ่งที่เราไม่ดีกลับกลายเป็นเรื่องปกติ 

ตรงนี้ในหนังสือ Airline pilot interviews  โดย IRV  JASINSKI และ The airline career and interview manual โดย captian bob norris และ danny mortensen มีบอกไว้ครับจะเป็นตัวอย่างคำถามและแนวทางในการตอบ



บทที่ ๓ แนวทางในการสอบเพื่อเป็นนักบินการบินไทย

ที่ผมกำหนดหัวข้อนี้ว่าเป็นการสอบเพื่อเป็นนักบินการบินไทยเพราะสายการบินอื่นอาจมีแนวทางที่ต่างออกไป    สำหรับสายการบินในประเทศแถบสแกนดิเนเวียนั้นไม่ยอมให้ผู้ที่เคยสอบไม่ผ่านในรอบสุดท้ายเข้าสมัครอีกส่วนการบินไทยนั้นสามารถสอบได้อีกแต่ต้องเว้นไว้ 3 ปี     ผมมีความมั่นใจว่าผู้ที่สอบในครั้งที่ 2 จะได้เปรียบกว่าผู้ที่ไม่เคยสอบเลยเพราะฉนั้นอย่าท้อแท้เลยครับหากท่านยังมีสิทธิอยู่โปรดใช้สิทธิของท่านให้หมดไปอย่างไรก็ตามการสอบไม่ใช่การเสี่ยงดวงท่านต้องเตรียมตัวให้พร้อมตามที่ผมแนะนำทั้งหมดซึ่งจะทำให้ท่านมีโอกาสมากยิ่งขึ้น  ขั้นตอนในการสอบหลายท่านคงพอทราบกันดีอยู่แล้วเพราะว่าค่อนข้างเหมือนกันทุกปีแต่หลายคนยังคงอาจสงสัยว่าทำไมต้องสอบหลายขั้นตอนจังเลยซึ่งผมจะขอกล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการสอบแต่ละขั้นตอนในบทต่อไป

๓.๑ ขั้นตอนในการสอบ

๓.๑.๑ การสมัคร
๓.๑.๒ การสอบ     แบ่งออกเป็น ๔ รอบ
- การสอบข้อเขียนความรู้ภาษาอังกฤษและความรู้ทั่วไป
- การสอบสัมภาษณ์โดยกัปตันไทย
- การสอบความถนัด ( APPITUDE TEST ) 
- การสอบสัมภาษณ์โดยนักจิตวิทยาการบินจากประเทศสวีเดน

๓.๒ รายละเอียดในแต่ละขั้นตอน

๓.๒.๑ การสอบข้อเขียนความรู้ภาษาอังกฤษและความรู้ทั่วไป
หลายปีที่ผ่านมาแนวการสอบในรอบนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ  จากเดิมจะมีการสอบความรู้ในเรื่องต่างๆมากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่อง คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ตลอดจนความรู้ด้านการบิน    สองปีที่ผ่านมาข้อสอบในรอบนี้เหมือนกันคือการสอบความรู้ภาษาอังกฤษโดยแบ่งเป็นข้อสอบด้านไวยากรณ์  การฟัง  และความเข้าใจเนื้อเรื่องสั้นๆ  สุดท้ายจะเป็นการเขียนประวัติส่วนตัวและประวัติด้านการบิน ระหว่างการสัมภาษณ์นั้นมีการสลับใช้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษไปมา

๓.๒.๓ การสอบความถนัด ( APPITUDE TEST )
แนวทางการสอบในรอบนี้นั้นหากพิจารณาดูให้ดีจะพบว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเลย   เพียงแต่ว่าข้อสอบอาจจะเหมือนเดิมบ้างแตกต่างออกไปบ้างแต่ก็หนีไม่พ้นแนวๆเดิมนั่นก็คือ
-  ความรู้ด้านการบินและ AERODYNAMICS
-  การคำนวณง่ายๆและการเทียบบัญญัติไตรยางค์
-  การหาข้อผิดของโจทย์นาฬิกา
-  SERIES NO.
-  SERIES PICTURE
-  การพับกล่อง
-  การทดสอบความจำ
-  การหารูปที่กำหนดในรูปใหญ่ที่ยุ่งเหยิง
- ข้อสอบความรู้ทางกลศาสตร์
- การสอบการทำงานเป็นกลุ่ม

๓.๒.๔ การสอบสัมภาษณ์โดยนักจิตวิทยาการบินจากประเทศสวีเดน
เช่นเดียวกันกับในข้อ ๓ แนวทางในการสอบใกล้เคียงหรือแทบจะเหมือนกับปีที่ผ่านๆมามากกว่าทุกรอบ   นั่นคือ มีการให้เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์กับ PRO.คนแรก  แล้วตามด้วยการสัมภาษณ์กับPRO.อีกท่านหนึ่ง  ลักษณะของการสัมภาษณ์ก็เหมือนเดิมทุกปีโดยเริ่มจากประวัติส่วนตัวแล้วตามด้วยการเดินจุดพร้อมกับการตอบคำถามทั่วไปและคำถามการคำนวนตัวเลข


บทที่ ๔ วัตถุประสงค์ของการทดสอบในแต่ละขั้นตอน

ถ้าเราคิดย้อนกลับไปที่บทที่ ๑  เรามีความจำเป็นต้องหาคำตอบให้ได้ว่าการบินไทยมีกรรมวิธีอย่างไรในการคัดเลือกนักบินให้ได้คุณสมบัติตามที่ต้องการเข้าทำงาน    ดังนั้นการทดสอบในแต่ละขั้นตอนนั่นเองที่เป็นการคัดเลือกของการบินไทยเพื่อให้ได้นักบินที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ  พวกท่านจึงต้องทำการเรียนรู้ให้ทราบแน่นอนว่าในแต่ละขั้นตอนของการสอบนั้นมีวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายอะไร

๔.๑ วัตถุประสงค์ในแต่ละขั้นตอน
๔.๑.๑ การสมัคร  เพื่อให้ได้ข้อมูลจากตัวท่านว่ามีคุณสมบัติเบื้องต้นเป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่  ผู้สมัครนั้นมีอายุได้ตามเกณฑ์ไหม   จบปริญญาตรีจริงหรือเปล่าหรือแค่อนุปริญญา  ผ่านการฝึกจากโรงเรียนการบินที่ไม่ได้มาตราฐานหรือไม่     การบินไทยมีความจำเป็นต้องคัดคนเหล่านี้ออกไป     ดังนั้นท่านต้องเตรียมเอกสารทุกอย่างตามที่ระบุไว้ในรายละเอียดของการสมัครให้ครบถ้วน  การกรอกใบสมัครให้กรอกครบทุกช่องตามแบบฟอร์มด้วยข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัย
๔.๑.๒ การสอบในรอบต่างๆ
- การสอบข้อเขียนความรู้ภาษาอังกฤษและความรู้ทั่วไป
ในรอบนี้มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางในการสอบมากและบ่อยที่สุดจนบางครั้งทำให้ผู้สมัครเกิดความสับ
สนได้ว่าการบินไทยมีความต้องการอะไร     เมื่อสอบถามนักบินที่เคยมีประสบการณ์อาจได้รับข้อมูลที่แตกต่างกันออกไป    บางท่านว่าในรอบนี้ไม่เน้นส่วนใหญ่จะผ่านกันหมด….!   แต่ทำไมบางคนสอบตกในรอบนี้    แนวทางการสอบในรอบนี้ตามที่ผมวิเคราะห์ว่าต่อไปไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากนักเนื่องจากผมทราบถึงวัตถุประสงค์แล้วว่าการบินไทยต้องการอะไร   ในรอบนี้นั้นการบินไทยต้องการวัดความรู้เบื้องต้นของเราเนื่องจากผู้สมัครจบโรงเรียนการบินมาจากหลายที่แตกต่างกันไป  ดังนั้นจึงต้องการรู้ว่าแต่ละท่านนั้นมีมาตราฐานผ่านเกณฑ์หรือไม่   สังเกตุได้จากทำไมนักบินจาก ทอ. จึงไม่ต้องสอบในรอบนี้    นอกจากนี้การบินไทยยังต้องการทดสอบความสามารถในด้านภาษาอังกฤษของผู้สมัครด้วยว่ามีเพียงพอที่จะไปพูดคุยหรือเข้าใจในการสอบกับ PRO. ในรอบสุดท้ายหรือไม่

- การสอบสัมภาษณ์โดยกัปตันไทย
เป็นการสอบที่เหมือนกันทุกปีไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย  คำถามส่วนมากจะเป็นลักษณะความรู้ทั่ว
ไปความรู้ด้านการบิน  ความรู้เกี่ยวกับการบินไทยและประวัติส่วนตัวท่าน  วัตถุประสุงค์ของการทดสอบในรอบนี้เพื่อที่จะดูว่าท่านเป็นผู้ที่มีความพร้อมหรือมีจิตใจในการที่จะมาร่วมงานกับการบินไทยมากแค่ไหน   หากท่านมีจิตใจที่ต้องการเป็นนักบินการบินไทยท่านต้องมีความรู้ในเรื่องต่างๆที่ผมกล่าวไปอยู่พอสมควรและมีคำตอบที่แสดงให้เห็นว่าท่านเองมีความพร้อมและต้องการเป็นนักบินการบินไทย

- การสอบความถนัด ( APPITUDE TEST )
ท่านควรเปิด WEP  SITE ของการบินไทยดูจะพอทราบถึงขั้นตอนการสอบในรอบนี้ว่าเป็นอย่างไร ใน
การสอบในรอบนี้นั้นแนวทางในการสอบเหมือนทุกปีที่ผ่านมา  โดยได้มีการออกแบบข้อสอบเปรียบเทียบกับบรรยากาศหรือขั้นตอนต่างๆในการปฏิบัติการบินตั้งแต่เริ่มติดเครื่องจนกระทั่งลงสนามแต่ตัวข้อสอบนั้นไม่เหมือนเดิม      อย่างไรก็ตามวัตถุประสงค์ของแต่ละชุดข้อสอบยังคงเหมือนเดิมเช่น ข้อสอบชุดคำนวณบัญญัติไตรยางค์ และ อื่นๆ ก็เพื่อทดสอบพื้นฐานการคิดเลขของเราว่ามีพอไหม    เพราะในโลกของการบินนั้นหลีกหนีไม่พ้นกับการคำนวณแบบฉับพลัน   ข้อสอบชุด series เลข เพื่อทดสอบดูว่าท่านมีลำดับความคิดเชิงวิเคราะห์ได้รวดเร็วมากน้อยถูกต้องแค่ไหน  ข้อสอบชุดนาฬิกาก็ต้องการทดสอบท่านในเรื่องของการแปรความคิดจากสิ่งที่เห็น   สำหรับในชุดอื่นๆก็เช่นเดียวกันแต่ละชุดนั้นก็มีวัตถุประสงค์ต่างกันออกไปแต่หัวใจที่สำคัญนั้นท่านต้องอย่าลืมว่านอกเหนือจากความสามารถของท่านในการทำข้อสอบ APPITUDE TEST นี้ได้ดีแล้วท่านเองต้องมีคุณสมบัติของการเป็นนักบินพานิชย์ในบทที่ ๑ ประกอบเข้าไปด้วย  และขอให้อยู่ในหัวใจของท่านเสมอทุกขั้นตอนของการสอบ

- การสอบสัมภาษณ์โดยนักจิตวิทยาการบินจากประเทศสวีเดน
จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าการสอบสัมภาษณ์กับ PRO. จะแบ่งออกเป็น ๒ ช่วง คือจะทำการสอบกับคน
แรกโดยการให้เล่นเกมส์กับเครื่องคอมพิวเตอร์ประมาณ ๓๐ นาที  มีเกมส์ด้วยกัน ๒ แบบคือ เกมส์บังคับจุดให้เคลื่อนที่ไปยังจุดหมายพร้อมทั้งตอบคำถามขณะทำ    เกมส์ที่๒ เป็นการทดสอบการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เป็นเกมส์ที่เล่นกับคอมฯโดยออกแบบให้เป็นเหมือนจอแสดงค่าหลายอย่างพร้อมกับมีกระดาษคำตอบ  หากได้ยินเสียงให้จดค่าจากจอแสดงผลด้านซ้ายสุด   หากเห็นไฟสีเขียวให้พลอตพิกัดที่แสดงอยู่บนจอด้านขวา  ส่วนจอตรงกลางหากเข็มเคลื่อนที่ออกนอกเส้นให้กดSPACE BAR  พร้อมกันนั้นให้ตอบคำถามบวกลบเลขทางด้านขวาสุดด้วย ต่อจากนั้นก็เป็นการสอบกับอีกคนหนึ่งใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง  หากเกมส์ที่สอบกับคนแรกอันไหนยังทำไม่ผ่านคนที่สองจะให้ทำใหม่อีกครั้ง   สำหรับท่านที่สองนี้จะเริ่มถามประวัติพูดคุยกับเราเหมือนปกติไปเรื่อยและจะให้มีการเดินจุดเหมือนทุกๆปีที่ผ่านมา

จุดประสงค์ของการทดสอบต่างๆจาก PRO.ในรอบนี้นั้นเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันไม่มีวันจบโดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ที่ไม่สามารถสอบผ่าน    ส่วนผู้ที่สอบผ่านได้เป็นนักบินการบินไทยก็ใช่ว่าจะรู้ดี    ผมเองคงไม่ตั้งตนเป็นผู้หยั่งรู้ในเรื่องนี้หรอกครับเพราะว่าเป็นเรื่องของจิตวิทยาที่ยากจะหยั่งถึงไม่ใช่เรื่องง่าย    แต่ผมนั้นบังเอิญเป็นคนที่มีนิสัยชอบเรียนรู้ถึงพฤติกรรมมนุษย์   ผมชอบสังเกตุและหาคำตอบให้กับตัวเองบ่อยครั้งว่าทำไมคนนั้นถึงชอบแสดงออกอย่างนี้ทำไมคนนี้ถึงชอบแสดงออกอย่างนั้นในภาวะที่ต่างกันออกไป    อย่างไรก็ตามใช่ว่าผมจะหาคำตอบได้ทุกเรื่องทุกครั้ง    ผมใช้ความชอบในเรื่องนี้มาประกอบกับข้อมูลที่ผมศึกษานำมาวิเคราะห์การสอบกับ PRO. ที่ผ่านมาในครั้งแรกทำให้ผมเองมีคำตอบในใจบ้างว่า PRO. มีความต้องการอะไร    จุดมุ่งหมายของ PRO.นั้นก็เพื่อมาทดสอบอีกครั้งว่าผลการสอบ APPITUDE TEST นั้นใช่ตัวเราทั้งหมดหรือไม่มีตรงไหนที่สามารถบ่งบอกได้ว่าเรายังมีข้อบกพร่องอีกไหม   แต่ต้องไม่ลืมนะครับว่าการบินไทยไม่ได้ต้องการคนที่สมบูรณ์แบบเพราะว่ามันไม่มี   ดังนั้นท่านจึงต้องรู้ให้ได้ว่าอันไหนสำคัญมากผิดพลาดไม่ได้อันไหนสำคัญน้อยผิดพลาดได้บ้าง  ทุกคำถามและขั้นตอนที่สอบกับ PRO. มีความหมาย โดยเฉพาะคำถามง่ายๆที่ท่านอาจตอบแบบสบายๆโดยไม่คิดจะกลายเป็นคำตอบที่บ่งบอกอะไรถึงตัวท่านได้หลายอย่าง


เคล็ดลับการสอบเข้าเป็นนักบินการบินไทย

บทสรุป

ต่อไปนี้คือสิ่งที่ผมรวบรวมได้ว่าในการเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อสอบเข้าเป็นนักบินการบินไทยที่ดีนั้นจะต้องทำอะไรบ้าง   หลังจากที่ท่านได้ศึกษาในบทต่างๆที่ผ่านมาผมเชื่อว่าหลายคนคงอาจไม่เห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆเหล่านั้นเพราะว่าท่านสนใจแต่  ข้อสอบเก่า     ซึ่งผมไม่อยากให้ท่านเริ่มต้นด้วนวิธีเดิมๆคือการเอาข้อสอบเก่าๆมาอ่าน    ลืมมันไปเลยลองคิดดูสิครับทุกปีมีผู้สมัครสอบเข้าเป็นนักบินการบินไทยกี่คนเฉพาะพวกTRAINEE  ประมาณ 2-300 คน   ส่วนพวกเราที่เป็นนักบินแล้วอีกปีละ 50-60 คน แต่ละปีมีคนสอบได้เท่าไร   บางท่านอาจสงสัยว่าทำไมได้น้อยเหลือเกินหรือการบินไทยมีโควต้าในแต่ละปี    ผมขอยืนยันเลยครับว่าการที่สอบผ่านได้น้อยนั้นเพราะว่าสอบกันไม่ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด    การบินไทยนั้นต้องการนักบินมากทุกปีอยู่แล้วและการที่สอบกันไม่ค่อยผ่านก็เพราะไม่มีความเข้าใจและรู้ถึงความสำคัญในขั้นตอนต่างๆของการสอบ    ได้แต่รอโผเก่าข้อสอบเก่ามานั่งอ่านนั่งทำเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยหรือเกิดความจำ      ผมเองไม่ใช่ว่าไม่มีข้อสอบเก่าผมเองก็รวบรวมไว้พอสมควรแต่การเตรียมตัวสอบของผมในครั้งหลังนี้แตกต่างจากครั้งแรกมากโดยเฉพาะการสอบในครั้งหลังผมอ่านข้อสอบเก่าน้อยมาก อย่างไรก็ตามคงต้องนำทั้งสองครั้งในการเตรียมตัวสอบของผมมารวมกันถึงจะเรียกได้ว่าสมบูรณ์ดังนี้ครับ

หลังจากที่ท่านได้ศึกษาทำความเข้าใจในสิ่งต่างๆที่ผมแนะนำมาแล้วทั้ง 4 บท    ขั้นตอนต่อไปในการเตรียมตัวผมขอให้ท่านเริ่มจากการทบทวนภาษาอังกฤษเพราะว่าบางท่านที่มีพื้นฐานน้อยอาจต้องใชเวลาเตรียมตัวมากหน่อย    ไม่ต้องเก่งมากมายขนาดสามารถทำข้อสอบปริญญาโทผ่านหรอกครับเอาแค่สามารถทำข้อสอบ ALC ผ่านในเกณฑ์  70% ก็พอแล้ว   แต่อย่าลืมนะครับว่าท่านต้องสามารถพูดและฟังได้บ้างโดยเฉพาะการพูดต้องฝึกฝนและสามารถสื่อให้ PRO. เข้าใจให้ได้อาจจะไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ไม่เป็นไร    ทบทวนความรู้ด้านการบินไว้ระดับหนึ่งอาจแค่ลองนึกถึงว่าหากท่านต้องปฏิบัติภารกิจการบินกับ บ.แบบที่ท่านบินอยู่ในปัจจุบันท่านมีความรู้ครอบคุมทั้งหมดหรือยัง      รวมทั้งทบทวนเรื่อง AERODYNAMICS บ้าง   ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางทหารและทั่วๆไปของประเทศต่างๆไว้บ้างโดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆ รวมทั้งความรู้เกี่ยวกับการบินไทย   ฝึกฝนการทำข้อสอบ APPITUDE TEST โดยไม่ต้องสนใจว่าในปีที่ผ่านมาและปีที่ท่านสอบข้อสอบจะเป็นอย่างไรเพราะการทำข้อสอบ APPITUDE TEST ที่ดีต้องเป็นการทำข้อสอบที่ไม่เคยทำมาก่อนเหมือนการทำ IQ TEST  อย่างไรก็ตามควรหาข้อสอบหลากหลายมาลองทำเพื่อให้เกิดการพัฒนาหรือ EXERCISE สมองในหลายๆรูปแบบ   ฝึกการเดินจุดให้มากโดยอัดเทปเป็นเสียงเคาะพร้อมกับถามปํยหาบวกลบคูณหารและคำถามทั่วไปแล้วเปิดเดินตามฝึกมากได้เปรียบโดยเฉพาะการเดินจุดที่สองข้างต่างกันเช่นข้างขวาเดินสามเหลี่ยมข้างซ้ายเดินวงกลม  เตรียมคำตอบต่างๆไว้สำหรับการสอบสัมภาษณ์โดยหาตัวอย่างคำถามได้จากหนังสือ Airline pilot interviews  โดย IRV  JASINSKI และ The airline career and interview manual โดย captian bob norris และ danny mortensen   สำหรับคำตอบนั้นอย่าลืมว่าต้องแสดงให้เห็นว่าท่านเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติของนักบินพานิชย์หรือสายการบิน    หัวใจนั้นอยู่ที่ว่าท่านต้องอ่านให้ออกว่าคำถามหรือการทดสอบใดๆนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อวัดอะไรเรา    ทุกคำตอบของท่านจะสื่อความหมายออกมา
    
สุดท้ายนี้ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารฉบับนี้จะสามารถช่วยให้น้องๆทุกท่านประสบความสำเร็จในการสอบเข้าเป็นนักบินการไทยได้ดั่งใจหวัง   ………… 
แล้วเจอกันที่บริษัทนะครับ

บทความโดยนาวาโทกิตติศักดิ์   วงษ์ประกอบผู้บังคับฝูงบิน ๑๐๔ กองบิน ๑ กองการบินทหารเรือ



Total Rating ✔

9.2 stars – 2,789 reviews

More Reviews

แสดงความคิดเห็น

เคล็ดลับการสอบเข้าเป็นนักบินการบินไทย

สอบทุนนักบิน, News, Student Pilot