เด็กเขียนตัวอักษรกลับด้านเป็นเพราะอะไร?
คำตอบ การเขียนตัวอักษรกลับด้านนั้น เป็นความบกพร่องของความสามารถในการรับรู้ตำแหน่ง ซึ่งมักพบมากในเด็กที่มีความบกพร่องด้านการเรียนรู้ หรือ (LD) และเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้น (ADHD)แก้ไขได้อย่างไร?
คำตอบ1. เให้เด็กๆออกกำลังกายโดยการเล่นกีฬา เช่น ว่ายน้ำ เตะบอล ปั่นจักรยาน เล่นบ้านบอล เล่นสนามเด็กเล่น หรือการเล่นเครื่องเล่นปีนป่าย เป็นต้น ซึ่งเด็กเหล่านี้จะสามารถคงสมาธิให้จดจ่อได้ดี
2. ให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมทักษะการเคลื่อนไหวร่างกายสัมพันธ์กับการใช้สายตา เช่น การร้อยเชือกรองเท้า การติดกระดุม การตักอาหารเข้าปาก การเดินบนทางแคบหรือข้ามสิ่งกีดขวาง การเล่นของเล่นจำพวกที่ต้องใช้อุปกรณ์ เช่น ใช้คีมคีบของในอ่างน้ำ เล่นปาบอลให้ถูกเป้าหมาย เล่นเกมลากเส้นเขาวงกต เป็นต้น
บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน โดย ม.มหิดล บทความอาจยาวหน่อยแต่ถ้าท่านมีลูกที่เขียนหนังสือกลับด้านซ้ายขวา หรือกลับหัวกลับหาง อ่านบทความนี้รับรองว่ามีประโยชน์กับท่านและเด็กๆแน่นอนครับ
==========================
ในวัยเด็กระดับอนุบาลหรือวัยเริ่มต้นเขียน คุณครูและผู้ปกครองอาจจะสังเกตเห็นปัญหาเมื่อเด็กต้องเริ่มฝึกการใช้ดินสอและเขียนตัวอักษรมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการจับดินสอไม่เหมาะสม การออกแรงในการเขียนไม่เหมาะสม การเขียนเว้นช่องไฟไม่ถูกต้อง การเขียนตัวหนังสือสลับผิดตำแหน่ง และโดยเฉพาะปัญหาด้านการเขียนตัวอักษรกลับด้าน เช่น เขียน ถ เป็น ภ, ด เป็น ค เป็นต้น ซึ่งปัญหาเล็ก ๆ เหล่านี้ อาจทำให้เด็กสื่อสารผ่านการเขียนผิดเพี้ยนไปได้ นักกิจกรรมมีคำตอบเพื่ออธิบายปัญหาเหล่านี้
การรับรู้ทางสายตา หรือ Visual perception เป็นการอธิบายเกี่ยวกับทักษะความสามารถของเด็กที่ได้รับข้อมูลผ่านสิ่งที่มองเห็นโดยสามารถแปลผลข้อมูล และรู้ความหมายของข้อมูลนั้นได้ ซึ่งการรับรู้ทางสายตาสามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภทหลัก(1) คือ
ประเภทที่ 1 Object perception คือการรับรู้เกี่ยวกับวัตถุ และผสานการทำงานกับสมอง ประกอบด้วย
- Form constancy คือ การจดจำและแยกแยะรูปทรง ไม่ว่าจะอยู่ในทิศทางใด หรือมีขนาดเท่าไหร่
- Visual closure คือ การแยกแยะวัตถุถึงแม้จะอยู่ในภาพที่ไม่สมบูรณ์
- Figure ground perception คือ การแยกแยะภาพหรือวัตถุออกจากพื้นหลังที่ปะปนกันอยู่
ประเภทที่ 2 Spatial perception คือ การรับรู้ตำแหน่งของวัตถุที่มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย
- Position in space คือ การแยกแยะตำแหน่งของวัตถุ เช่น ใน นอก บน ล่าง หน้า หลัง ซ้าย ขวา
- Spatial relation คือ การรับรูปความสัมพันธ์ของสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง
- Depth perception คือ การกะระยะ รับรู้ความลึก การเอื้อมมือไปคว้าสิ่งของอย่างแม่นยำ
- Topographic orientation การจดจำความสัมพันธ์ของสถานที่ การเชื่อมโยงแผนที่
- สำหรับการเขียนตัวอักษรกลับด้านนั้น เป็นความบกพร่องของความสามารถในการรับรู้ตำแหน่ง หรือ Position in space จากข้อความด้านบนได้อธิบายความหมายของการรับรู้ตำแหน่งไว้ว่า เด็กต้องสามารถแยกแยะตำแหน่งของวัตถุ เช่น ใน นอก บน ล่าง หน้า หลัง ซ้าย ขวาได้ ซึ่งหากบกพร่องในส่วนนี้ จะส่งผลให้เด็กมีความยากลำบากในการรับรู้ตำแหน่งที่สัมพันธ์กันของวัตถุ เขียนตัวอักษรกลับหัวกลับข้างหรือเขียนเหมือนส่องกระจก(2) ซึ่งมีส่วนทำให้เด็กไม่สามารถอ่านแผนที่ อ่านแผนภาพ และเขียนตัวอักษรได้อย่างถูกต้อง ปัญหาเหล่านี้ มักพบมากในเด็กที่มีความบกพร่องด้านการเรียนรู้ หรือ Learning Disability (LD) และเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้น หรือ Attention Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD)
เด็กที่มีความบกพร่องด้านการเรียนรู้ หรือ Learning Disability (LD) เด็กกลุ่มนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มบกพร่องด้านการอ่าน (Dyslexia) กลุ่มบกพร่องด้านการคิดคำนวณ (Dyscalculia) และกลุ่มบกพร่องด้านการเขียน (Dysgraphia) ในเด็กที่บกพร่องด้านการเขียน หรือ Dysgraphia คือเด็กที่มีพฤติกรรมเขียนอักษรเบี้ยว เขียนไม่ตรงบรรทัด เขียนขนาดตัวอักษรไม่เท่ากัน เขียนเรียงลำดับอักษรเพื่อประกอบคำผิด เขียนเว้นวรรคไม่เหมาะสม และที่พบได้บ่อย คือ เขียนตัวอักษรกลับด้าน ปัญหาเหล่านี้มีผลมาจากความบกพร่องของกระบวนการการเรียนรู้ ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมด้านการเขียน
ส่วนเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้น หรือ Attention Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD) มีงานวิจัยพบว่าในเด็กปกติกับเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้น เด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นนั้นจะมีความยากลำบากในการจดจ่อ และคงความสนใจเพื่อจดจำรายละเอียดของข้อมูลมากกว่าเด็กปกติ ส่งผลต่อทักษะในการจัดการข้อมูลที่ได้รับจากการเรียน สับสนตัวอักษรง่าย ๆ ที่คล้ายกัน เช่น b, d, p ทำให้เกิดความผิดพลาดในการลอกตัวอักษร ลอกรูปทรงเรขาคณิต และในเด็กบางรายที่มีความบกพร่องในเรื่องสหสัมพันธ์ของการเคลื่อนไหวร่วมด้วย เด็กจะมีความยากลำบากในการทำงานที่ต้องใช้อุปกรณ์ เช่น การใช้มีดตัดอาหาร การใช้ดินสอเขียน รวมถึงการวาดภาพด้วย(3)
ตามพัฒนาการในเด็ก ความสามารถด้านการรับรู้ตำแหน่ง หรือ Position in space เด็กจะสามารถเริ่มรับรู้ตำแหน่งจากแนวตั้งไปแนวนอน จากนั้นจะเริ่มรับรู้ในแนวเฉียงหรือแนวทแยงมุม พัฒนาการขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถแยกแยะความแตกต่างของภาพกลับหัวได้ ดังนั้นเด็กควรได้รับการส่งเสริมเพื่อพัฒนาการที่ดีในส่วนนี้ตั้งแต่ก่อนวัยเรียน หรือตั้งแต่คุณครู และผู้ปกครองสังเกตเห็นความผิดปกติเมื่อเด็กเขียนตัวอักษรไม่เหมาะสม โดยพัฒนาการของเด็กจะพัฒนาไปในทางที่ดีได้เด็กต้องอาศัยประสบการณ์ที่ได้รับจากการเล่น การเรียนรู้ที่เปิดกว้างเหมาะสมกับวัย โดยมีผู้ปกครอง และคุณครูช่วยให้คำแนะนำ ส่งเสริมอุปกรณ์ จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับเด็ก
แนวทางการส่งเสริมทางกิจกรรมบำบัด
สำหรับแนวทางทางกิจกรรมบำบัดที่ใช้เพื่อพัฒนาทักษะของเด็กกลุ่มนี้ นักกิจกรรมบำบัดต้องทำการประเมินเพื่อรวบรวมข้อมูล โดยใช้แบบประเมินมาตรฐาน ตัวอย่างเช่น Motor-Free Visual Perception Test-third edition (MVPT-3) หรือ Developmental Test of Visual Perception- second edition (DTVP-2) แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาที่เฉพาะเจาะจงต่อเด็ก และวางเป้าหมายร่วมกับครอบครัว เพื่อวางแผนในการฝึกฝนเด็กให้ไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งในที่นี้ขอแนะนำวิธีการพัฒนาทักษะหรือช่วยแก้ไขปัญหาการเขียนกลับด้านของเด็กผ่านกิจกรรมการเล่น หรือกิจกรรมในชีวิตประจำวันสำหรับผู้ปกครอง ดังนี้
ในเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้ทางสายตา (Visual perception) มักจะมีปัญหาด้านการใช้สายตาจดจ่อ (Visual attention) ไม่สามารถอยู่นิ่งได้ (Hyperactive) ส่งผลให้เด็กรับข้อมูลได้ไม่ครบถ้วนดังนั้นควรเริ่มจากการเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกาย เพื่อให้เด็กพร้อมที่จะจดจ่อต่อการทำกิจกรรมการเรียนรู้ในด้านอื่น โดยให้กิจกรรมสลายพลังงาน (Physical activity) ยกตัวอย่าง เช่น การออกกำลังกายที่เหมาะสมตามวัย ไม่ว่าจะเป็น ว่ายน้ำ เตะบอล ปั่นจักรยาน เล่นบ้านบอล เล่นสนามเด็กเล่น หรือการเล่นเครื่องเล่นปีนป่าย เป็นต้น ซึ่งเด็กเหล่านี้จะสามารถคงสมาธิให้จดจ่อได้ดี ส่งผลให้การทำงานของกระบวนการจดจำข้อมูล และการประมวลผลข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น(4)
เมื่อเด็กสามารถควบคุมตนเองให้จดจ่อต่อการทำกิจกรรมได้ดีขึ้น จะเริ่มให้เด็กทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายสัมพันธ์กับการใช้สายตา (eye-motor coordination) โดยให้เด็กฝึกควบคุมร่างกายให้เคลื่อนไหว (Motor control) ไปพร้อมกับการใช้สายตาจดจ่อ (Visual attention) เพื่อเชื่อมโยงไปถึงการฝึกทักษะเกี่ยวกับการลอกงาน ที่เด็กจะต้องใช้สายตาในการรับข้อมูลรูปภาพ และแสดงออกผ่านการเขียนด้วยการเคลื่อนไหวแขน และมือให้สัมพันธ์กัน ตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมทักษะนี้ เช่น ฝึกให้เด็กช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวันง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็น การร้อยเชือกรองเท้า การติดกระดุม การตักอาหารเข้าปาก การเดินบนทางแคบหรือข้ามสิ่งกีดขวาง การเล่นของเล่นจำพวกที่ต้องใช้อุปกรณ์ เช่น ใช้คีมคีบของในอ่างน้ำ เล่นปาบอลให้ถูกเป้าหมาย เล่นเกมลากเส้นเขาวงกต เป็นต้น
จากนั้นจะพิจารณากิจกรรมที่เฉพาะเจาะจงต่อปัญหาของเด็กมากขึ้น ตามที่กล่าวข้างต้นของบทความนี้ เด็กที่มีปัญหาการเขียนอักษรกลับด้าน เกิดจากความบกพร่องในการรับ และแปลผลข้อมูลเกี่ยวกับการรับรู้ตำแหน่ง หรือ Position in space ดังนั้นกิจกรรมที่ควรให้ คือ
กิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กรู้จักความหมายของทิศทางง่าย ๆ ก่อน เช่น การสอนคำศัพท์ที่สัมพันธ์กับตำแหน่งในชีวิตประจำวัน บอกให้เด็กช่วยนำของไปวางบนโต๊ะ ใต้เก้าอี้ ข้างตู้ โดยให้เด็กสังเกต และลองผิดลองถูกด้วยตนเองก่อน จากนั้นผู้ปกครองจึงช่วยแนะนำ หรือชมเชยผ่านการกระทำเหล่านั้น
ส่งเสริมผ่านการเรียนรู้ที่เสมือนการเขียน หรือเสมือนการมองภาพในกระดาษมากขึ้น เช่นการหาภาพที่เหมือนภาพตัวอย่าง การแยกภาพที่ต่างจากพวก เป็นต้น เพื่อให้เด็กแยกแยะภาพผ่านการสังเกต โดยเริ่มจากภาพการ์ตูนจนไปถึงภาพตัวอักษรที่ซับซ้อนขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนของเด็กเท่านั้น ซึ่งเด็กจะเรียนรู้ และพัฒนาทักษะของตนเองได้ดี ต้องอาศัยปัจจัยส่งเสริมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น แรงสนับสนุนที่เหมาะสมจากคุณครู หรือผู้ปกครอง โดยการชมเชยเมื่อเด็กทำถูก และคอยสอนแทนการดุเมื่อเด็กทำผิด เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความสามารถของตนเองอย่างเต็มที่ สนับสนุนโอกาสให้เด็กได้เล่นเกมเล่นของเล่นที่ช่วยพัฒนาทักษะอย่างเหมาะสม และที่สำคัญคือ เปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกฝนทักษะอย่างสม่ำเสมอ การฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอนั้นจะช่วยให้เด็กมั่นใจในข้อมูลที่ตนได้รับ ส่งผลให้เด็กกล้าคิดกล้าตัดสินใจ และกล้าแสดงออกมาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ต่อไป
เรียบเรียงโดย ก.บ. พรประพิมพ์ โปธา
==========================
เอกสารอ้างอิง
นนทิชา ถาวรไพบูลย์บุตร. กรอบอ้างอิงการรับรู้ทางสายตา (Visual Perception Frame of Reference). วารสารกิจกรรมบำบัด. 2555 September-October 3;17(3):25-9.
นิศาชล ชมเชย, สุจิตรพร เลอศิลป์, สรินยา ศรีเพชราวุธ, สุภาพร ชินชัย. ประสิทธิผลของโปรแกรมการบำบัดการรับรู้ทางสายตาในนักเรียนที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3. Bull Chiang Mai Assoc Med Sci. 2558 September 3;48(3):222-30.
Ahmetoglu E. A Comparative Study on the Visual Perceptions of Children with Attention Deficit Hyperactivity Disorder. J APPL SCI. 2008;8(5):830-5.
Jennifer I. Gapin JDL, Jennifer L. Etnier. The effect of Physical activity on attention deficit hyperactive disorder symptoms. ELSEVIER. 2011 June 1;52:S70-S4.
Total Rating ✔
9.2 stars – 2,789 reviews
More Reviews
อ่านรีวิว ทั้งหมดคลิก
แสดงความคิดเห็น
เด็กเขียนตัวอักษรกลับด้าน เป็นเพราะอะไร แก้ได้อย่างไร?
บทความจาก TutorFerry, News