เพราะอนาคตแรงงานหนึ่งคนจะไม่ได้ทำอาชีพเดียว แต่อาจต้องทำถึง 3-4 อาชีพ ฉะนั้นทักษะการเรียนรู้สิ่งใหม่จึงสำคัญ ด้วยเหตุนี้สถาบันการศึกษาเองจึงต้องปรับตัว เพื่อพัฒนาคนรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ใกล้เข้ามา
โครงการ Samsung Smart Learning Center
ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต โดยบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization : ILO) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตรการพัฒนาระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเสวนาทางวิชาการเรื่อง “ความมั่นคงทางอาชีพและทักษะที่จำเป็นของมนุษย์ในยุคจักรกลอัตโนมัติ (Job Security and Human Skills in the Age of Automation)” โดยมีเป้าหมายผนึกกำลังของทุกภาคส่วนกำหนดวิสัยทัศน์ในการยกระดับทักษะแรงงาน รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเข้าสู่ยุคจักรกลอัตโนมัติอีก 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบให้บางสาขาอาชีพหายไปจากตลาดแรงงาน“รศ.ดร.เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา” คณบดีคณะรัฐศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคจักรกลอัตโนมัติที่จะมาทำงานแทนมนุษย์ แรงงานในบางสาขาอาชีพอาจไม่มีอีกต่อไป ฉะนั้นในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยต้องกำหนดทิศทางใหม่ ทั้งปรับระบบการศึกษา และทักษะแรงงานให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว
ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และภาคเอกชน ต้องร่วมมือกันเตรียมเด็กไทยให้พร้อมรองรับโลกแห่งเทคโนโลยีและอาชีพใหม่ ๆ จะได้รับมือปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
ฟุ เหวียน ผู้เชี่ยวชาญด้านการจ้างงาน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สะท้อนมุมมองจากผลศึกษาเรื่อง อาเซียนในยุคเปลี่ยนผ่าน : อนาคตตลาดงานท่ามกลางความเสี่ยงจากจักรกลอัตโนมัติ (ASEAN in Transformation : The Future of Jobs at Risk of Automation) ซึ่งสำรวจความคิดเห็น 4,000 บริษัท และนักเรียนนักศึกษา 2,700 คน ในภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า ระบบจักรกลอัตโนมัติที่ทดแทนแรงงานคน ปรากฏชัดในประเทศสิงคโปร์, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่วนไทยก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกัน เนื่องจากกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และต้องการเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งคาดว่าจะมีแรงงานในภูมิภาคโดยเฉลี่ย 40% เสี่ยงจะได้รับผลกระทบนี้
“สำหรับไทยนั้นอาจมีแรงงานถึง 17 ล้านคน เสี่ยงจะถูกระบบจักรกลอัตโนมัติเข้ามาแทนที่ และมีโอกาสเกิดกับแรงงานผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 50% ขณะที่แรงงานที่จบระดับประถมศึกษาเสี่ยงตกงานมากกว่าระดับปริญญาตรีถึง 90%”
“ทักษะการทำงานที่คนรุ่นใหม่ควรจะมี ประกอบด้วย ความสามารถที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ การปรับตัวให้ทำงานได้ในขอบเขตงานและสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ การทำงานร่วมกับผู้อื่น ความสามารถในการสื่อสาร พร้อมกับการมีทักษะด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี”
สอดคล้องกับที่ “ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ” ผู้อำนวยการโครงการความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์กับภาคอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ว่า ยุคโรโบติกส์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถือว่ามาเร็ว และแรงกว่าที่คิด ปัจจุบันในห้องทดลองสมัยใหม่ใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนคน รวมถึงธุรกิจ e-Commerce ยักษ์ใหญ่อย่าง amazon.com ที่ใช้เทคโนโลยีบริหารคลังสินค้า กลุ่ม Alibaba ใช้ระบบประมวลผลปล่อยกู้แก่ร้านค้า ส่วนนักกฎหมายในสหรัฐใช้เว็บไซต์วิเคราะห์แนวโน้มคำตัดสินของผู้พิพากษา เป็นต้น
“ปัจจัยที่ถือว่าเป็นตัวเร่งให้ยุคโรโบติกส์และปัญญาประดิษฐ์เกิดขึ้นเร็ว คือ แรงกดดันของการแข่งขันทางธุรกิจ ที่ต้องแข่งกันลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และคนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยเทคโนโลยีอย่างดี ดังนั้นระบบการศึกษาของประเทศจำเป็นต้องก้าวตามให้ทัน ไม่เน้นเพียงความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่ต้องยกระดับการศึกษาเฉพาะบุคคล เฉพาะสาขา และดำเนินการต่อเนื่องตลอดชีวิต”
“เพราะอนาคตแรงงานหนึ่งคนจะไม่ได้ทำอาชีพเดียว แต่อาจต้องทำถึง 3-4 อาชีพ ฉะนั้นทักษะการเรียนรู้สิ่งใหม่จึงสำคัญ ด้วยเหตุนี้สถาบันการศึกษาเองจึงต้องปรับตัว เพื่อพัฒนาคนรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ใกล้เข้ามา”
ด้าน “ผศ.ดร.สินีนาฏ เสริมชีพ” รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเสริมว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงของการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการที่ธนาคารพาณิชย์ปิดสาขาไปถึง 200 แห่ง และแนวโน้มของบริษัทข้ามชาติที่เคยผลิตในประเทศที่ต้นทุนค่าแรงงานถูก ก็จะย้ายกลับไปประเทศพัฒนาแล้ว
“เพราะหุ่นยนต์และ AI ทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการย้ายกลับก็ทำให้อยู่ใกล้ชิดผู้บริโภคมากกว่านั้น จึงทำให้ไทยต้องเผชิญความท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้ก้าวไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
ขณะที่ “วาริท จรัณยานนท์” ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด เผยว่า ในฐานะภาคเอกชนผู้ดำเนินโครงการด้านการศึกษาพบว่า เด็กรุ่นใหม่มีความสามารถในการเรียนรู้และใช้งานเทคโนโลยีได้ดี แต่ยังขาดทักษะที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นหากต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง ต้องเริ่มต้นจากการปลูกฝังทักษะศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นทักษะจำเป็นสำหรับโลกอนาคตให้กับเด็ก ๆ
“ซัมซุงได้ริเริ่มโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต ตั้งแต่ปี 2556 เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ให้กับนักเรียน โดยเด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ในแบบ active learning ด้วยการลงมือทำงานร่วมกับเพื่อน ๆ มีการคิดวิเคราะห์ ทำงานสร้างสรรค์ และเพิ่มทักษะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ด้วยตนเอง”
“สิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กรุ่นใหม่สามารถปรับตัวและเติบโตได้ในโลกการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คือ การค้นพบศักยภาพและความสนใจของตัวเองให้พบ และพัฒนาศักยภาพของตนเองให้เข้ากับตลาดงานในอนาคต ซึ่งนวัตกรรมเว็บแอปพลิเคชั่น Samsung Career Discovery ค้นพบตัวเอง ค้นพบอาชีพ จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กรุ่นใหม่รู้จักศักยภาพของตัวเองมากขึ้น พร้อม ๆ กับการให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพใหม่ ๆ ในปัจจุบัน”
เป็นการเตรียมการเด็กไทยให้พร้อมรับมือยุคเครื่องจักรกลอัตโนมัติที่กำลังจะมาถึง พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในอนาคต
Total Rating ✔
9.2 stars – 2,789 reviews
More Reviews
อ่านรีวิว ทั้งหมดคลิก
แสดงความคิดเห็น
เตรียมการเด็กไทยให้พร้อมรับมือยุคเครื่องจักรกลอัตโนมัติที่กำลังจะมาถึง
News