ผู้เขียน (ศาสตราจารย์ ดร. มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด)ได้รับเชิญจากธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ให้ไปเสวนาเรื่องเศรษฐกิจท่องเที่ยวไทย เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2560
คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยซบเซาช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวเป็นเสาหลักสำคัญเสาหลักหนึ่ง แต่ที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจก็คือ ประเทศไทยได้กลายเป็นประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวอันดับ 3 ของโลก และหากหักเอารายจ่ายของคนไทยที่ไปเที่ยวต่างประเทศออกไป รายได้จากการท่องเที่ยวนานาชาติสุทธิของไทยจะเป็นที่ 2 ของโลก เป็นรองเพียงสหรัฐเท่านั้น กล่าวได้ว่าไทยขึ้นเทียบชั้นประเทศพัฒนาด้านการท่องเที่ยวแล้ว นอกจากนี้ ไทยและจีนเป็นเพียง 2 ประเทศในบรรดาประเทศกำลังพัฒนาที่ติดใน 10 อันดับแรกของประเทศที่มีผู้มาเยือนมากที่สุดในโลก พูดง่ายๆ ก็คือ เราติดอันดับโลกในด้านความต้องการมาเยือนของต่างชาติและมีผลดำเนินที่ดีมากในด้านรายได้
การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจท่องเที่ยวได้ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไป ภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวมีการจ้างงานสูงกว่าภาคอุตสาหกรรมไทยแล้ว และยังมีสัดส่วนของ GDP สูงกว่าภาคเกษตรด้วยซ้ำ โดยรายได้จากการท่องเที่ยวเทียบกับการส่งออกทั้งหมดของไทยในปี 2559 เท่ากับ 28.44%
จีนเป็นสาเหตุหลักของการพุ่งทะยานของเศรษฐกิจท่องเที่ยวไทย เพราะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างรวดเร็วและมีจำนวนมหาศาลตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา และยิ่งเร่งอัตราสูงมากขึ้นเพราะกระแสข้อมูลผ่าน Social Media ทำให้ไทยกลายเป็นเป้าหมายหลักของคนจีนในการเยือนต่างประเทศเป็นประเทศแรก
สำหรับแนวโน้มในอนาคตนั้น นักท่องเที่ยวจีนก็ยังคงมาเยือนไทยแบบไม่ขาดสาย เพราะจีนเป็นที่สุดของโลกในหลายมิติ เช่น จีนส่งออกนักท่องเที่ยวปีละ 122 ล้านคน รายจ่ายนักท่องเที่ยวต่อหัวสูงที่สุดในโลก ซื้ออากาศยานมากที่สุดในโลก จะมีชนชั้นกลาง 300 ล้านคนในปี พ.ศ. 2573 ประชากรมีพาสปอร์ตมากที่สุดในโลก อีกทั้งจีนมีการท่องเที่ยวในประเทศปีละ 4,000 ล้านคน เป็นต้น และเมื่อคนจีนพบว่ามาเที่ยวไทยมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการท่องเที่ยวในประเทศ จะทำให้มีนักท่องเที่ยวตามมาอีกเรื่อยๆ แต่ขอให้สามารถเปิด/ ปรับปรุงสนามบินของไทยในจังหวัดต่างๆ ให้เป็นสนามบินนานาชาติมากขึ้น
หากไม่มีปัญหาสถานการณ์การเมืองไทย รวมถึงไม่มีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไทยเกิดขึ้นภายใน 5-6 ปีข้างหน้า เราอาจมีจำนวนนักท่องเที่ยวนานาชาติเทียบชั้นสเปน ขอฟันธงเลยว่า ประเทศไทยจะถึง Tourism 4.0 ก่อนที่เราจะถึง Thailand 4.0 อย่างแน่นอน
ในอนาคตของการท่องเที่ยวไทยที่มีจีนเป็นหลักจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมไทยที่สำคัญ คือ สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมก้มหน้า (Digital Society) ดูโทรศัพท์มือถือ สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) เพราะทุกอย่างจะถูกจ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือ และมีระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy)
จะเห็นได้ว่า การท่องเที่ยวจะไม่มีปัญหาการขาดแคลนดีมานด์อีกต่อไป แต่การก้าวไกลไปกับมังกรใช่ว่าจะมีแต่ผลประโยชน์เท่านั้น แต่ก็มีต้นทุนด้วย เช่น ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาการแย่งชิงผลประโยชน์ทางธุรกิจกับธุรกิจจีนที่หลั่งไหลเข้ามาตามนักท่องเที่ยวจีน เพื่อตักตวงผลประโยชน์ที่คนจีนมาทิ้งไว้ในประเทศไทย
คำถามของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ รัฐบาลจะต้องเตรียมการอะไรบ้าง
สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำก็คือ ปรับทัศนคติใหม่ว่า การท่องเที่ยวไม่ใช่ภาคเศรษฐกิจปลายแถวอีกต่อไป เนื่องจากมีทั้งศักยภาพ สร้างโอกาส และมีความท้าทาย รัฐบาลต้องหันมาให้ความสนใจกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามากขึ้น เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพทัดเทียมกระทรวงชั้นหนึ่ง
ประเด็นต่อไปที่ต้องเข้าใจคือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการท่องเที่ยวไปในสายบูรพาภิวัตน์
ทำให้ภาษาจีนจะก้าวมาเป็นภาษาที่ 2 อีกภาษาหนึ่ง จึงมีความจำเป็นต้องสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะภาษาจีนมารองรับ
นอกจากนี้ยังต้องสร้างความเข้าใจว่า ปัจจัยที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอาจไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวอีกต่อไปหากยึดตลาดจีนเป็นหลักในปัจจุบัน แต่เป็นการสร้างความได้เปรียบด้านโลจิสติกส์ กล่าวคือ ถ้าสามารถหาสนามบินให้จีนเอาอากาศยานลงได้ ก็จะได้ตลาดเพิ่ม
ส่วนคู่แข่งของไทยในตลาดจีนก็ไม่ใช่ประเทศอาเซียนอีกต่อไป ดังนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขันในตลาดจีนก็ต้องไปเปรียบกับญี่ปุ่นและเกาหลี แล้วระบบบริหารราชการโดยเฉพาะในระดับพื้นที่ เราจะไหวไหมเนี่ย!
การรองรับที่สำคัญก็คือ ต้องจัดการความสามารถในการรองรับไปจนถึงระดับฮับ (Hub) ท่องเที่ยว ไม่ใช่ดูแค่แหล่งท่องเที่ยวหรือเส้นทางเท่านั้น และเมืองท่องเที่ยวต้องยกระดับมาตรฐานในการรองรับทั้งในด้านการวางแผน ด้านกายภาพ และด้านบุคลากร
เรื่องสำคัญที่ลืมไม่ได้เลยก็คือ ต้องหากลวิธีที่จะเก็บภาษีจากคนจีนที่มาเที่ยวให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะคนจีนมักซื้อทัวร์และทำธุรกรรมในไทยโดยจ่ายเงินที่ต้นทาง และต้องสรรหาวิธีการมาเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำมาไว้ใช้ดูแลทรัพยากรท่องเที่ยวในท้องถิ่นตนเอง
แค่ต้องระวังเรื่องความเสี่ยงในการพึ่งพาตลาดเดียวและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
แค่นี้ก็เต็มมือแล้วค่ะ !
Cr : ศาสตราจารย์ ดร. มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผู้อำนวยการสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ม.เชียงใหม่
ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/
Total Rating ✔
9.2 stars – 2,789 reviews
More Reviews
อ่านรีวิว ทั้งหมดคลิก
แสดงความคิดเห็น
Thailand 4.0 : Tourism จะมาก่อน และภาษาจีนจะเป็นภาษาที่2
News