สำรวจ
แนะนำ
สอบเข้า
ออนไลน์

ครูสอนพิเศษ คุณภาพอันดับ1

หาครูสอนพิเศษตัวต่อตัว คลิกเลย

ติวสอบทุนนักบิน Student Pilot

ค้นหาด้วยเสียง
ค้นหาด้วยเสียงคลิกที่นี่

» » ทำไม? เด็กเล็กๆจึงควรเรียน Coding

21 พฤศจิกายน 2560

ทำไม? เด็กเล็กๆจึงควรเรียน Coding

ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เราไม่ได้สอนดนตรีเพื่อให้เด็กทุกคนกลายเป็นนักไวโอลินระดับวงซิมโฟนี เช่นเดียวกัน เราไม่ได้กำลังพยายามทำให้เด็กทุกคนเป็นเลิศทางคอมพิวเตอร์

ทำไม? เด็กเล็กๆจึงควรเรียน Coding


ได้เวลา Coding สำหรับเด็กๆแล้ว

แทนที่เด็กจะใช้คอมพิวเตอร์แบบตั้งรับ (passive) ถึงเวลาที่เด็กๆ ควรได้เรียนรู้วิธีสั่งให้แท็บเล็ตหรือแล็ปท็อปทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการ

ไคล์ฟ บีล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการศึกษา Raspberry Pi Foundation องค์กรการกุศลในอังกฤษผู้พัฒนาบอร์ดคอมพิวเตอร์จิ๋ว กล่าวถึงบทบาทความสำคัญของการเขียนโค้ด (Coding) 

ไว้เมื่อปี 2014 ในห้วงเวลาที่สหราชอาณาจักรประกาศปรับหลักสูตรวิชาคอมพิวเตอร์ที่สอนกันอยู่ในโรงเรียนโดยเริ่มแนะนำให้เด็กรู้จักกระบวนการคิดในทางคอมพิวเตอร์ (Computational Thinking: CT) กันตั้งแต่ระดับ Key Stage 1 (อายุ 5-6 ปี)

ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เราไม่ได้สอนดนตรีเพื่อให้เด็กทุกคนกลายเป็นนักไวโอลินระดับวงซิมโฟนี เช่นเดียวกัน เราไม่ได้กำลังพยายามทำให้เด็กทุกคนเป็นเลิศทางคอมพิวเตอร์ การบรรจุวิชาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาคือ เรากำลังบอกว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร มันทำงานอย่างไร การทำความเข้าใจมันมีประโยชน์นะ แต่เดี๋ยวก่อน-คุณเองก็อาจเป็นเลิศในเรื่องพวกนี้ได้นะ”
 ทีนี้ลองมาดูกันว่าในระดับ Key Stage 1 ของอังกฤษ ซึ่งหากเทียบด้วยอายุก็จะเท่ากับอนุบาล 3 ถึงประถมฯ 1 ของบ้านเรา เด็กๆ เรียนอะไรกันบ้างในวิชาคอมพิวเตอร์

เมื่อดูขอบเขตของเนื้อหา จะพบว่าเด็กๆ ได้เรียนรู้ว่าอัลกอริธึมคืออะไร ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์เสมอไป เมื่ออธิบายถึงชุดคำสั่ง ครูอาจยกตัวอย่างสูตรการทำอาหารจานโปรดของเด็กๆ หรือลำดับกิจกรรมในช่วงเช้าก่อนมาโรงเรียน ฝึกตั้งโจทย์เขียนลำดับการทำงานเพื่อให้บรรลุโจทย์ที่ว่า ฝึกหาข้อบกพร่อง (debugging) เพื่อแก้ไข แล้วจึงค่อยๆ เริ่มรู้จักการใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างจัดระเบียบจัดเก็บ หรือจัดการดิจิทัลคอนเทนต์ต่างๆ ตามที่เด็กต้องการเหล่านี้เป็นเรื่องของกระบวนการคิดทั้งสิ้น ทำให้ผู้ที่สนับสนุนการบรรจุการเขียนโค้ดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาขั้นพื้นฐานมองว่า เรื่องนี้สำคัญอย่างยิ่งกับเด็กๆ และควรจะให้เริ่มศึกษาพร้อมกับวิชาหลักอื่นๆ เช่นคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์
หากมองการเขียนโค้ดว่าเป็นเรื่องของการใช้สัญลักษณ์ กระบวนการคิดก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับวิชาคณิตศาสตร์ที่เด็กในวัยนี้กำลังเริ่มเรียน เช่นว่า 

  • หากมีส้มอยู่ 5 ผลแล้ว เพื่อนให้มาอีก 6 ผล เราจะมีส้มทั้งหมดกี่ผล 
  • เด็กป. 1 ก็เรียนรู้แล้วว่าเรื่องส้มๆ นี้เขียนง่ายๆ ได้ว่า 5+6 = 11 
  • และหากเด็กรู้จักภาษาไพทอน เด็กก็จะเข้าใจได้แน่นอนว่า >>> 5+6 ก็จะได้ 11


คนที่สนับสนุนเรื่องนี้มองว่า การแนะนำให้เด็กรู้จักการเขียนโค้ดจะช่วยลดภาพลักษณ์บิดเบี้ยวว่าคอมพิวเตอร์ การเข้ารหัส จนถึงการเขียนโปรแกรม เป็นเรื่องของกีค (geek) หรือเนิร์ด (nerd) เท่านั้น ทั้งขยายพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กว้างไปกว่าการสื่อสาร การเรียนรู้ค้นคว้า หรือความบันเทิง ซึ่งในแง่หนึ่งก็ยังเป็นการใช้เทคโนโลยีในเชิงตั้งรับ

เด็กทุกวันนี้ยุ่งขิงกับสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และใช้เทคโนโลยีรูปแบบต่างๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ยังมีไม่มากที่ใช้มันในการสร้างสรรค์” โรซานน์ อีมาดิ หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์ของ code.org องค์กรไม่แสวงหากำไรจากซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา กล่าว “การสร้างสรรค์ที่ว่าอาจเป็นเรื่องง่ายๆ เช่น เด็กเขียนโปรแกรมทำเขาวงกตไว้เล่นกับเพื่อนหรือสั่งการหุ่นยนต์ให้เดินหน้าเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา การได้เห็นอย่างเชื่อมโยงว่าโค้ดที่เขาเขียนกลายเป็นจริงได้นั้นจะกลายเป็นประกายความคิดให้เขาสร้างสรรค์ต่อ

มูลนิธิ Raspberry Pi เป็นเรี่ยวแรงสำคัญที่ช่วยวางแผนบทเรียนและพัฒนาสื่อการสอนต่างๆ ให้กับโรงเรียนในอังกฤษ โดยเฉพาะระดับประถมฯ ด้วยการคิดโครงงานเสริมการเรียนการสอน อย่างเช่นการติดตั้งกล้องกับที่ให้อาหารนกและให้เด็กๆ ฝึกเขียนโปรแกรมเพื่อโพสต์ภาพนกขณะบินลงมากินอาหารบนแพล็ตฟอร์มออนไลน์โดยตรง


ทำไม? เด็กเล็กๆจึงควรเรียน Coding

ไคล์ฟ บีลย้ำเสมอว่า กระบวนการคิดในทางคอมพิวเตอร์หรือ CT คือกระบวนการแก้โจทย์ปัญหาแบบหนึ่ง ที่จะช่วยเพิ่มทักษะการคิดและความมั่นใจในการรับมือกับปัญหาปลายเปิดที่ซับซ้อน ทั้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อช่วยแก้โจทย์ปัญหาในวิชาการสาขาอื่นๆ ด้วย เขาให้ภาพถึงการบูรณาการการเขียนโค้ดเข้ากับเนื้อหาวิชาอื่นๆ ว่า เด็กๆ อาจเขียนโปรแกรมเพื่อส่งกล้องขึ้นไปในชั้นบรรยากาศระดับต่ำ ให้มันบันทึกภาพสำหรับโครงงานทางวิทยาศาสตร์ อาจใช้คำนวณผลในวิชาคณิตศาสตร์ ใช้ทำงานศิลปะ เขียนโปรแกรมในวิชาดนตรี หรือกระทั่งวิชาพละ

ในสหรัฐอเมริกา จากการสำรวจของ Gallup พบว่า โรงเรียนเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่สอนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (Computer Science) ในแบบที่ให้เด็กรู้จักการเขียนโปรแกรม อย่างไรก็ตาม ด้วยบรรยากาศการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่เข้มแข็งของสหรัฐฯ ตลอดสิบปีที่ผ่านมา มีองค์กรมากมายที่เข้ามาเสริมการเรียนรู้ด้านนี้ให้กับเด็กๆ นับตั้งแต่กลุ่ม Lifelong Kindergarten ปีกด้านการศึกษามูลฐานของ MIT Media Lab ผู้พัฒนา Scratch โปรแกรมเรียนการเขียนโค้ดสำหรับเด็กๆ องค์กรไม่แสวงหากำไรชื่อ code.org ที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับโรงเรียนมาตั้งแต่ปี 2013 และได้รับทุนสนับสนุนจากบรรดายักษ์ใหญ่ในซิลิคอนแวลลีย์ นอกจากนี้ยังมีสตาร์ตอัปในนิวยอร์กซิตี้ชื่อ Codecademy ซึ่งโปรแกรมสอนโค้ดดิ้งของพวกเขาใช้กันแพร่หลายในชั้นเรียนเสริมในโรงเรียนหลายหมื่นแห่งในสหรัฐฯ เป็นที่พึ่งของครูในสหราชอาณาจักร ในเอสโตเนีย และโรงเรียนกว่า 30 แห่งในกรุงบัวโนสไอเรสของอาร์เจนตินา


ทำไม? เด็กเล็กๆจึงควรเรียน Coding


Scratch ถือเป็นผู้บุกเบิกโปรแกรมสอนการเขียนโปรแกรมแบบ block programming

มีลักษณะเหมือนการต่อจิกซอว์หรือเลโกบล็อค โดยบล็อคแต่ละชิ้นมีสีสันที่แตกต่างกัน ซึ่งหมายความถึงรูปแบบการเขียนหรือโครงสร้างของโปรแกรมที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่ต้องสนใจกับไวยากรณ์อันซับซ้อนของภาษาโปรแกรมต่างๆ แต่เน้นไปที่การพัฒนาตรรกะและทักษะในการแก้ปัญหาของผู้เรียน เช่น 

  • บล็อคสีฟ้าเป็นคำสั่งเรื่อง Motion 
  • บล็อคสีม่วงเป็น Look 
  • สีชมพูเป็น Sound 

ในแต่ละบล็อคยังมีคำกำกับที่ตั้งค่าได้แตกต่างกันไปเช่น play sound ... for ... ถ้าเด็กต้องการให้คาแรกเตอร์ที่กำลังเขียนโค้ดเดินไปข้างหน้า 5 ก้าวแล้วร้องเสียงนกนาน 5 วินาที เด็กก็ต้องนำบล็อคสีฟ้าที่เขียนและตั้งค่าว่า move forward 5 steps มาวางแล้วนำบล็อคสีชมพูมาต่อโดยเลือกและตั้งค่าว่า play sound bird for 5 seconds เป็นต้น จนเมื่อเด็กเคยชินกับโครงสร้างของการเขียนโค้ดและเข้าใจวิธีการแก้ปัญหา ก็จะทำให้สามารถเปลี่ยนไปเขียนโค้ดด้วยภาษาอื่นๆ ได้โดยง่าย การสอนการเขียนโค้ดของ code.org ก็ใช้หลัก block programming นี้เช่นกัน และไม่ได้ใช้สำหรับสอนเด็กๆ เท่านั้น ยังถูกนำไปใช้สอนในระดับมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์


ทำไม? เด็กเล็กๆจึงควรเรียน Coding


ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Scratch เพิ่งฉลองครบรอบ 10 ขวบไปหมาดๆ และตลอดสิบปีที่ผ่านมา ชุมชนออนไลน์ของชาว Scratch มีสมาชิกกว่า 18 ล้านรายจากทุกภาคพื้นทวีป มีโครงงานฝีมือเขียนโค้ดของสมาชิกอายุระหว่าง 8-16 ปีแชร์อยู่บนแพล็ตฟอร์มมากว่า 22 ล้านโครงงาน และมีโครงงานใหม่ๆ แชร์เข้ามาราว 30,000 โครงงานต่อวัน นอกจากโปรแกรมสำหรับเด็กโตแล้ว ยังมี ScratchJr เวอร์ชันสำหรับเด็กอายุ 5-7 ปีด้วย

ในการพบปะระหว่างยักษ์ใหญ่วงการไอทีจากซิลิคอนแวลลีย์กับประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิล บอกทรัมป์แบบเสียงดังฟังชัดว่า “โรงเรียนรัฐทุกโรงเรียนควรมีการเรียนการสอนโค้ดดิ้ง”
ฮาดิ ปาร์โตวี ผู้ก่อตั้ง code.org เห็นด้วยกับเรื่องนี้สุดทาง ถึงขั้นกล่าวว่า ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเช่นทุกวันนี้ เราควรให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เทียบเท่ากับการอ่านการเขียนและคณิตศาสตร์ “การเข้ารหัส (Encryption) ควรเป็นเรื่องพื้นฐานที่เด็กๆ ต้องเรียน เหมือนเรื่องการสังเคราะห์แสง

เราไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องกับพวกเขาไปเสียทั้งหมด เพราะถึงที่สุด code.org ก็รับเงินสนับสนุนจากซิลิคอนแวลลีย์ และทิม คุก ก็อาจพูดเช่นนั้นด้วยความขัดอกขัดใจกับประสิทธิภาพความคิดสร้างสรรค์ของแรงงานไอทีในสหรัฐอเมริกา

แต่เมื่อถอยกลับมามอง เราย่อมพบว่าสูตรอาหารที่เราเรียนรู้และทำกับข้าวกันอยู่ก้นครัว ก็ถือเป็นอัลกอริธึมอย่างหนึ่ง ขณะเดียวกัน คงถึงเวลาแล้วจริงๆ ที่เราจะมองเทคโนโลยีด้วยสายตาเชิงรุก ไม่เพียงแต่ ‘ใช้งาน’ เทคโนโลยี แต่รู้จักใช้เทคโนโลยีให้ทำงานและสร้างสรรค์สิ่งที่เราต้องการ – ใครจะรู้ กระบวนการคิดเช่นนี้อาจเป็นหัวใจสำคัญของการรับมือกับโลกที่จะเต็มไปด้วย AI ในอนาคตอันใกล้










1 comments: