หลักสูตร AP หรือ Advanced Placement Program
เป็นโครงการเรียนล่วงหน้าที่เปิดโอกาสให้นักเรียนมัธยมปลายสามารถทำการทดสอบหรือทำความเตรียมพร้อมก่อนเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดา หลักสูตรนี้จัดทำขึ้นโดย College Board ซึ่งเป็นองค์กรเดียวกับที่จัดสอบ SAT หรือ Standardized Test นั่นเองครับ
แรกเริ่มเลยหลักสูตรนี้จัดขึ้นตั้งแต่ปี 1950 โดยเปิดแค่ 11 วิชา และก็หยุดการจัดใช้หลักสูตรไปจนถึงปี 1956 แล้วกลับมาเปิดปกติและเป็นที่แพร่หลายดังเช่นในปัจจุบัน แต่ละปีจะมีนักเรียนเข้าสอบมากกว่า 2.4 ล้านคนต่อปี และตอนนี้มีวิชาในหลักสูตรมากถึง 38 วิชาครับ
หลักสูตร AP มีความสำคัญอย่างไร?
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้กับนักเรียนมัธยมปลายสามารถสอบเพื่อเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในอเมริกาและแคนาดาได้ ดังนั้น ผู้ที่สามารถสอบผ่านหลักสูตร AP และได้คะแนนตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด ก็จะได้รับการพิจารณาให้ศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย โดยถ้าเราสอบผ่านวิชาที่มีการเปิดสอนในมหาวิทยาลัย เราก็จะไม่ต้องมานั่งเรียนในห้องเหมือนคนอื่นๆ และวิชาส่วนใหญ่จะเป็นวิชาพื้นฐานของปี 1 – 2 หลักสูตร AP จึงเปรียบเสมือนทางลัดของนักเรียนมัธยมปลายที่จะต่อมหาวิทยาลัยนั่นเอง กล่าวได้ว่า ยิ่งถ้าเราสอบผ่านได้หลายวิชาตามที่มหาวิทยาลัยเปิดสอน เราก็จะได้เก็บสะสมหน่วยกิตได้เร็วขึ้น โอกาสที่เราจะเรียนจบเร็วกว่าเพื่อนก็มีมากขึ้นนั่นเองครับ และคนที่สามารถสอบผ่านหลักสูตรนี้ จะเป็นสัญญาณที่ดีในการเรียนมหาวิทยาลัยที่มีทั้งความกดดันมากขึ้น เด็กที่เรียนหลักสูตรนี้จึงต้องอาศัยความรับผิดชอบมากกว่านักเรียนหลักสูตรทั่วไปครับแล้วคนที่ไม่ได้เรียนโรงเรียนที่เปิดสอนหลักสูตร AP จะสามารถเข้าสอบ AP ได้ไหม?
หลายๆ คนคงสงสัยว่าถ้าโรงเรียนไม่ได้มีหลักสูตรนี้ จะสามารถสอบได้หรือเปล่า คำตอบก็คือ ไม่ว่าใครก็สามารถสอบได้ครับ เพราะว่าหลักสูตรนี้เปิดรับหมดไม่ว่าเราจะผ่านการเรียนหลักสูตรอะไรมาก็ตาม หรือแม้แต่เรียนหนังสือที่บ้าน (Home Schooling) ก็สามารถสอบได้ครับ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าใครได้ผ่านการเรียนหลักสูตร AP มาก่อนก็จะได้เปรียบมากกว่าครับ เพราะว่าหลักสูตรนี้จัดขึ้นเพื่อคนที่ต้องการสอบผ่าน AP โดยเฉพาะเลยครับ แต่ถ้าใครไม่ได้ผ่านหลักสูตรนี้ก็ต้องพยายามให้มากขึ้นครับ
ทำไมจึงกล่าวว่าหลักสูตร AP คือการท้าทายความสามารถ?
หลายคนบอกว่าหลักสูตรนี้เป็นการท้าทายความสามารถของเด็กมัธยมปลาย เพื่อเป็นการพิสูจน์ตัวเองในเรื่องของความสามารถและความรับผิดชอบของตัวเองไปในตัว ดังเช่น Yale University มหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของโลก ที่ได้มีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ กล่าวไว้ว่า “เราได้ตั้งความหวังไว้ว่าเด็กๆ จะได้รับประโยชน์จากการเรียนหลักสูตร AP ถ้าโรงเรียนของพวกเขาได้เปิดทำการเรียนการสอน ดังนั้น ถ้าโรงเรียนของคุณเปิดสอนหลักสูตร AP แต่คุณเลือกที่จะไม่เรียน มันก็เหมือนกับไม่ได้ท้าทายความสามารถตัวเองสักเท่าไหร่”ยกตัวอย่างเช่น ถ้าน้องๆ อยากที่จะเรียนเป็นวิศวกร แล้วได้ผ่านการเรียนและสอบผ่านในรายวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น AP Physics และ AP Calculus มันก็เหมือนเป็นการพิสูจน์ว่าเราจะสามารถเรียนต่อมหาวิทยาลัยในคณะนี้ได้หรือไม่ และก็เป็นการบ่งบอกว่าเราอยากจะเป็นวิศวกรจริงๆ หรือเปล่า
แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องรู้ไว้ก่อนว่า กว่าจะสอบหลักสูตร AP ได้ บางโรงเรียนก็ต้องให้เราเรียนและผ่านการสอบของหลักสูตรโรงเรียนนั้นๆ ก่อน ทางที่ดีก็ควรปรึกษาอาจารย์หรือผู้มีความรู้และประสบ
การณ์เกี่ยวกับหลักสูตรนี้ก่อนนะครับ
ค่าใช้จ่ายและรายวิชาของหลักสูตรมีอะไรบ้าง
ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการสอบนั้น แต่ละวิชาจะเสียค่าสอบ วิชาละ 91 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,200 บาทครับ ซึ่งวิชาในหลักสูตรมีถึง 38 วิชา มีดังต่อไปนี้
- วิจัย (AP Research)
- การสัมมนา (AP Seminar)
- ประวัติศาสตร์ศิลป์วิทยา (Art History)
- ชีววิทยา (Biology)
- แคลคูลัส AB (Calculus AB)
- แคลคูลัส BC (Calculus BC)
- เคมี (Chemistry)
- ภาษาและวัฒนธรรมจีน (Chinese Language and Culture)
- วิทยาการคอมพิวเตอร์ A (Computer Science A)
- ทฤษฎีวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science Principles)
- ภาษาอังกฤษและองค์กระกอบ (English Language and Composition)
- วรรณคดีอังกฤษและองค์ประกอบ (English Literature and Composition)
- วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Environment Science)
- ประวัติศาสตร์ยุโรป (European History)
- ภาษาและวัฒนธรรมฝรั่งเศส (French Language and Culture)
- ภาษาและวัฒนธรรมเยอรมัน (German Language and Culture)
- การเมืองการปกครองเปรียบเทียบ (Government and Politics - Comparative)
- การเมืองการปกครองสหรัฐอเมริกา (Government and Politics - US)
- ภูมิศาสตร์กายภาพ (Human Geography)
- ภาษาและวัฒนธรรมอิตาลี่ (Italian Language and Culture)
- ภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่น (Japanese language and Culture)
- ภาษาละติน (Latin)
- เศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics)
- เศรษฐศาสตร์จุลภาค (Microeconomics)
- ทฤษฎีดนตรี (Music Theory)
- ฟิสิกส์ 1 (Physic 1)
- ฟิสิกส์ 2 (Physics 2)
- ฟิสิกส์ C ไฟฟ้า-แม่เหล็ก (Physics C: Electricity and Magnetism)
- ฟิสิกส์ C เครื่องกล (Physics C: Mechanics)
- จิตวิทยา (Psychology)
- ภาษาสเปน (Spanish Language)
- วรรณคดีสเปน (Spain Literature)
- สถิติ (Statistics)
- การวาดภาพ (Studio Art Drawing)
- การออกแบบภาพ 2 มิติ (Studio Art 2D Design)
- การออกแบบภาพ 3 มิติ (Studio Art 3D Design)
- ประวัติศาสตร์อเมริกา (US History)
- ประวัติศาสตร์โลก (World History)
พออ่านมาถึงตรงนี้ น้องๆ คงอึ้งในความเยอะของรายวิชาที่มีมากมายและหลากหลาย แต่ก็มีบางวิชาที่ไม่ได้มีเปิดสอนในระดับมัธยม เช่น วิทยาการคอมพิวเตอร์ จิตวิทยา หรือเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น วิชาเหล่านี้จะทำให้น้องเหมือนได้เรียนมหาวิทยาลัยจริงๆ ในขณะที่ยังเรียนอยู่แค่มัธยมปลายเท่านั้น ถือว่าเป็นการท้าทายความสามารถอย่างมากเลยครับ
เกณฑ์การประเมินผล
เกณฑ์การประเมินผลสอบของ AP จะประเมินออกมาเป็นตัวเลข 5 ระดับ ได้แก่5 – Extremely Well Qualified
4 – Well Qualified
3 - Qualified
2 – Possibly Qualified
1 – No recommendation
มหาวิทยาลัยส่วนมากจะรับผล AP ที่ได้คะแนน 4 และ 5 แต่ก็มีบางที่รับคะแนนที่ได้ 3 ด้วย และในปี 2016 ที่ผ่านมา วิชาที่คนสอบมากที่สุด 5 อันดับก็คือ วิชาภาษาอังกฤษ, ประวัติศาสตร์อเมริกา, วรรณกรรมอังกฤษ, แคลคูลัส AB และการเมืองการปกครองสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ แต่รายวิชาที่มีคนสอบผ่านมากที่สุดกลับเป็นวิชาที่ดูเหมือนจะยาก เช่น วิชาภาษาจีนและแคลคูลัส เป็นเพราะว่า คนที่สอบส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เรียนมาก่อน และมีการติวเข้มอย่างมาก จึงทำให้มีเปอร์เซ็นต์คนสอบผ่านเยอะมากที่สุด และวิชาที่คนสอบผ่านน้อยที่สุดก็คือ วิชาประวัติศาสตร์อเมริกา และวิชาการเมืองการปกครองอเมริกา
ลักษณะข้อสอบเป็นอย่างไรบ้าง?
โดยส่วนมากวิชาต่างๆ จะใช้เวลาในการสอบ 2 -3 ชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่จะเป็น 3 ชั่วโมง ข้อสอบจะแบ่งเป็น 2 ส่วนก็คือ ปรนัยและอัตนัย
ข้อสอบอัตนัยจะมีจำนวนมากในรายวิชาสายมนุษยศาสตร์
ยกตัวอย่างเช่น วิชาภาษาอังกฤษและวิชาวรรณคดีภาษาอังกฤษ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน โดย 1 ชั่วโมงแรกจะเป็นข้อสอบปรนัย และอีก 2 ชั่วโมงหลังจะเป็นข้อสอบอัตนัย เน้นการเขียน Essay เช่นเดียวกับวิชาประวัติศาสตร์อเมริกาและประวัติศาสตร์โลก 55 นาทีแรกจะเป็นข้อสอบปรนัย และ 2 ชั่วโมงที่เหลือจะเป็นการตอบคำถามอัตนัย
สำหรับสายวิทยาศาสตร์ ส่วนมากข้อสอบปรนัยจะมีจำนวนมากกว่าอัตนัย
ยกตัวอย่างเช่น วิชาจิตวิทยา จะใช้เวลา 70 นาทีในการทำข้อสอบปรนัย และอีก 50 นาทีจะเป็นข้อสอบอัตนัย และวิชาชีววิทยา จะแบ่งเป็นอัตนัยและปรนัยอย่างละ 1 ชั่วโมง 30 นาที ส่วนเคมี จะแบ่งเป็นปรนัย 1 ชั่วโมง 30 นาที และอัตนัย 1 ชั่วโมง 45 นาที
ส่วนวิชาสายคณิตศาสตร์ จะแบ่งเท่าๆ กัน
วิชาสถิติจะแบ่งเป็นส่วนละ 90 นาทีเท่าๆ กัน แต่แคลคูลัส AB ปรนัยจะใช้เวลา 1 ชั่วโมง 45 นาที และอัตนัย 1 ชั่วโมง 30 นาทีครับ
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าแต่ละวิชาจะมีสัดส่วนจำนวนชั่วโมงที่แตกต่างกัน วันนี้พี่วุฒิจะยกตัวอย่างจำนวนข้อสอบในรายวิชาหลักๆ มีอะไรบ้าง เรามาดูกันเลย
วิชาภาษาอังกฤษ
ทั้งวิชาภาษาอังกฤษและวรรณคดีภาษาอังกฤษ ในส่วนข้อสอบปรนัย 1 ชั่วโมงนั้นจะมี 55 ข้อ และอีก 2 ชั่วโมงที่เหลือ ต้องเขียน Essay ถึง 3 บทด้วยกัน พูดเลยว่าข้อสอบมีความท้าทายอย่างมาก น้องๆ จะต้องจัดการกับเวลาให้ดี กล่าวง่ายๆ คือ ข้อสอบปรนัยจะใช้เวลา 1 ข้อต่อ 1 นาทีเลยทีเดียว และ 2 ชั่วโมงที่เหลือ น้องต้องเขียน Essay ที่มีคุณภาพถึง 3 เรื่องด้วยกัน (โหดมั้ยล่ะ)
วิชากลุ่มสังคมศึกษา
วิชาประวัติศาสตร์โลก มีข้อสอบตัวเลือก 70 ข้อ ภายในเวลา 55 นาที และข้อสอบอัตนัย เขียน Essay 3 บท ภายในเวลา 40 นาทีข้อสอบการเมืองการปกครองสหรัฐอเมริกา มี 60 ข้อ ภายในเวลา 45 นาที และเขียน Essay อีกบทละ 25 นาที
และข้อสอบประวัติศาสตร์อเมริกา มี 55 ข้อ กับเวลา 55 นาที แล้วก็เขียน Essay ตอบอีก 4 บทสั้นๆ ภายในเวลา 50 นาที ตอบคำถาม DBQ (Document-Based Question) ภายในเวลา 55 นาที และอีก 35 นาทีที่เหลือจะเป็นการเขียน Essay ยาว 1 บท
วิชาคณิตศาสตร์
ยกตัวอย่าง วิชาแคลคูลัส AB ซึ่งเป็นวิชายอดนิยมที่สอบกัน จะมีข้อสอบปรนัย 28 ข้อที่ต้องตอบภายใน 55 นาที โดยไม่ใช้เครื่องคิดเลข และอีก 17 ข้อใช้เครื่องคิดเลขได้ มีเวลา 50 นาที และในส่วนของข้อสอบอัตนัย จะมี 6 ข้อ ใช้เวลา 90 นาที หรือข้อละ 15 นาทีต่อข้อครับวิชากลุ่มวิทยาศาสตร์
- วิชาเคมี ปรนัย 60 ข้อ 90 นาที และอัตนัย 7 ข้อ ภายใน 1 ชั่วโมง 45 นาที
- วิชาจิตวิทยา ปรนัย 100 ข้อ 70 นาที และอัตนัย 2 ข้อ 50 นาที
- วิชาชีววิทยา ปรนัย 63 ข้อ และเขียนตอบสั้นๆ อีก 6 ข้อ ทั้งหมดภายใน 90 นาที และอัตนัย 8 ข้อ 90 นาที
ควรเตรียมตัวยังไงดี?
น้องๆ จะเห็นแล้วว่า ข้อสอบมีความยากอยู่แล้ว ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมตัวที่พร้อมสำหรับการสอบ มีหลากหลายวิธี ดังนี้1. ฝึก ฝึก และก็ฝึก!
การฝึกทำข้อสอบเป็นวิธีง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำกัน และวิธีนี้ก็ช่วยได้มากเลยครับ ข้อสอบเก่ามีมากมาย นำมาฝึกทำบ่อยๆ ก็จะช่วยให้เราไม่ตื่นข้อสอบครับ
2. เตรียมพร้อม จัดการเวลาให้ดีกับการทำข้อสอบปรนัย
น้องๆ จะเห็นว่าข้อสอบปรนัยในแต่ละวิชา มีจำนวนข้อที่มาก และแต่ละวิชาก็ให้เวลามาน้อยนิด ข้อละนาทีเลยก็ว่าได้ ดังนั้นการฝึกทำข้อสอบแบบที่พี่บอกไป จะช่วยได้เยอะเลยครับ
3. ฝึกและพัฒนาการเขียน Essay อยู่เสมอ
ในข้อสอบอัตนัย ส่วนมากจะเน้นการเขียน Essay เป็นหลัก ดังนั้น การที่เราฝึกและหารูปแบบวิธีการตอบ ฝึกวิธีลำดับความคิด พร้อมเขียนตอบตรงประเด็น และมีการจัดการโครงสร้างของบทความที่ดี ก็จะทำให้เราเขียนได้อย่างไหลลื่น ซึ่งก็มีวิธีการเขียนและการเลือกใช้คำมากมาย ถ้าเราฝึกเขียนเป็นประจำ ก็จะทำให้เราพบว่า วิธีการเขียนแบบไหนที่เหมาะกับเราและทำให้เราได้คะแนนเยอะๆ อีกด้วย
4. อย่าหักโหมตัวเอง
เป็นเรื่องที่ง่ายมากเลยครับ ทุกอย่างควรมีลิมิต น้องๆ ไม่ควรหักโหมตัวเองจนมากเกินไป สิ่งง่ายๆ ที่ควรทำก่อนวันมาสอบก็คือ นอนให้เต็มอิ่ม และตอนเช้าก็ต้องอย่าลืมทานข้าวด้วย เพราะมันต้องใช้พลังงานอย่างมากในการสอบ การสอบส่วนใหญ่ก็เริ่มตั้งแต่ 8 โมงเช้าด้วย พลังงานจึงเป็นสิ่งสำคัญมากๆ เลยล่ะ
Total Rating ✔
9.2 stars – 2,789 reviews
More Reviews
อ่านรีวิว ทั้งหมดคลิก
แสดงความคิดเห็น
หลักสูตร AP คืออะไร? มีความสำคัญอย่างไร? ลักษณะข้อสอบเป็นอย่างไรบ้าง?
inter, News