ส่งสารด้วยการเขียน
การเขียน คือการแสดงความรู้ ความคิด ความรู้สึกและความต้องการของผู้ส่งสารออกไปเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ผู้รับสารสามารถอ่านเข้าใจ ได้รับทราบความรู้ ความคิด ความรู้สึก และความต้องการเหล่านั้น การถ่ายทอดโดยวิธีบอกเล่าปากต่อปาก หรือที่เรียกว่า มุขปาฐะ อาจทำให้สารตกหล่นหรือคลาดเคลื่อนได้ง่าย
ในการเขียนภาษาไทยมีแบบแผนที่ต้องรักษา มีถ้อยคำสำนวนสำหรับใช้โดยเฉพาะและต้องเขียนให้แจ่มแจ้ง เพราะผู้อ่านไม่สามารถไต่ถามผู้เขียนได้เมื่ออ่านไม่เข้าใจ ผู้ที่จะเขียนได้ดีจำเป็นต้องเลือกใช้ถ้อยคำให้เหมาะแก่ผู้รับสาร โดยพิจารณาว่าผู้รับสารสามารถรับสารได้มากน้อยเพียงใดการเขียนจะมีประสิทธิภาพผู้เขียนจำเป็นต้องมีความสามารถ ดังนี้
๑. มีความรู้ดีพอในเรื่องที่จะเขียน๒. เลือกรูปแบบเหมาะสมแก่เนื้อหา
๓. ใช้ถ้อยคำสำนวนเหมาะสมแก่เนื้อหา
๔. ใช้ถ้อยคำสำนวนมีความหมายชัดเจน
๕. ใช้ถ้อยคำสำนวนอันเป็นที่ยอมรับว่าเป็นภาษาสุภาพ
กระบวนการเขียนและกระบวนการคิด
กระบวนการเขียนภาษาไทยที่ดีประกอบด้วยความสามารถของผู้เขียนซึ่งมีดังนี้๑. เลือกใช้คำที่สื่อความหมายได้แจ่มแจ้ง ใช้ถ้อยคำกะทัดรัด เหมาะสมแก่ระดับของผู้อ่านและรูปแบบการเขียน
๒. เขียนตัวอักษรให้อ่านง่าย และให้มีขนาดพอเหมาะแก่หน้ากระดาษและความสะดวกของผู้อ่าน
๓. เขียนถูกต้องตามอักขรวิธี คำนึงถึงการสะกดคำการใช้เครื่องหมายต่าง ๆ ให้ถูกต้อง
๔. แต่งประโยคมีใจความบริบูรณ์ ลำดับความให้เข้าใจง่าย ไม่วกวน
๕. เว้นวรรคตอน ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจสารได้ง่าย
๖. ขึ้นย่อหน้าใหม่เมื่อมีข้อคิดที่จะเสนอใหม่
กระบวนการคิดมีหลักดังนี้
๑. เกิดความต้องการที่จะเขียน
๒. คิดหาวิธี
๓. เปรียบเทียบและเลือกวิถีทางใดจะยากง่ายกว่ากัน
๔. แยกแยะว่าจะเริ่มตอนใดก่อน
๕. ลำดับข้อคิด
๖. ลงมือเขียน
๗. ตัดสินใจว่าจะใช้สำนวนภาษาชนิดใด
๘. หาวิธจบพร้อมทั้งข้อเสนอแนะ
รูปแบบการเขียน
มี ๒ รูปแบบคือ ๑) ร้อยกรอง ๒) ร้อยแก้ว ได้แก่๑. จดหมาย
- จดหมายส่วนตัว เป็นจดหมายที่เขียนถึงกันในวงญาติสนิทมิตรสหาย หรือถึงครู –
อาจารย์เพื่อส่งข่าวคราว ไต่ถามทุกข์สุข แสดงความรักความระลึกถึงที่มีต่อกัน หรือเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ที่น่ารู้ น่าสนใจใคร่ฟัง ตลอดจนขอความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
- จดหมายกิจธุระ เป็นจดหมายที่บุคคลเขียนติดต่อกับบุคคลอื่น หรือบริษัท ห้างร้าน องค์การเพื่อแจ้งกิจธุระ เป็นต้นว่านัดหมาย ขอความช่วยเหลือ ขอสมัครงาน และขอคำแนะนำเพื่อประโยชน์ในด้านการงานต่าง ๆ
- จดหมายธุรกิจ เป็นจดหมายที่เขียนติดต่อกันในเรื่องเกี่ยวกับพาณิชยกิจและการเงินใน
ระหว่างบริษัท ห้างร้านและองค์การต่าง ๆ
- จดหมายราชการ ทางราชการเรียกว่า หนังสือราชการ เป็นจดหมายที่ติดต่อกันเป็นทางราชการ จากส่วนราชการหนึ่งถึงอีกส่วนราชการหนึ่ง ข้อความในหนังสือนั้นถือว่าเป็นหลักฐานทางราชการ และมีสภาพผูกมัดถาวรในราชการ หนังสือราชการนี้จะต้องมีเลขที่หนังสือและลงทะเบียนรับ – ส่ง ตามระเบียบงานสารบรรณ
กลวิธีการเขียนจดหมายให้มีประสิทธิผล
๑. ต้องเขียนข้อความให้ชัดเจน
๒. ลายมือเรียบร้อย สะอาด
๓. ใช้ภาษาไทยถูกต้องตามความหมายและความนิยม
๔. ใช้แบบฟอร์มที่รับรองว่าถูกต้อง
๕. ใช้ถ้อยคำตรงไปตรงมาในการเขียนจดหมายราชการ กิจธุระและธุรกิจ
๒. เรียงความ เรื่องหนึ่ง ๆ ประกอบด้วย
- หัวข้อ อาจจะเป็นเรื่องรูปธรรม หรือนามธรรมก็ได้
- ความนำ ต้องกระตุ้นความสนใจ ปูพื้นฐานความเข้าใจ หรือชี้ให้เห็นความสำคัญของเรื่อง
- ตัวเรื่อง ควรมีจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งคือ ๑) เพื่อให้ข้อเท็จจริงแก่ผู้อ่าน ๒) เพื่อโน้มน้าวใจผู้อ่านให้เชื่อถือหรือคล้อยตามแนวความคิดของผู้เขียน ๓) เพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่าน ๔) เพื่อส่ง -
เสริมให้ผู้อ่านใช้ความคิดของตนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
- ความลงท้าย ซึ่งมีวิธีเขียนได้หลายวิธี ดังนี้ ๑) สังเขปความทั้งหมดให้ได้สาระสำคัญชัดเจน๒) หยิบส่วนสำคัญที่สุดมากล่าวย้ำ ๓) เลือกสุภาษิตคำคมมากล่าวย้ำ ๔) ฝากข้อคิดให้ผู้อ่าน ๕) ทิ้งให้ผู้อ่านคิดต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องเสนอ ข้อยุติ
๓. ย่อความ เป็นงานเขียนประเภทหนึ่งที่ตัดทอนข้อความที่มีอยู่ยืดยาวให้สั่นลงโดยรักษาสาระสำคัญไว้ ในการย่อความจะเป็นการพูดหรือเขียนก็ตามมีกระบวนการคิดแบบเดียวกัน
เรื่องราวหรือข้อความ หรือสารในการพูดและการเขียนครั้งหนึ่ง ๆ นั้นประกอบด้วย
ใจความ คือ ข้อความที่สำคัญที่สุดถ้านำใจความออกก็จะเปลี่ยนแปลงสารทั้งหมด
พลความ คือ ข้อความที่ขยายใจความให้ชัดเจน ถ้าตัดพลความออกสารที่ส่งมาไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
เนื้อหาในใจความและพลความมี ๓ ชนิด คือ
๑. ข้อเท็จจริง คือเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่แสดงสถานที่ไหน เมื่อไร ปริมาณหรือขนาดเท่าใด มีลักษณะอย่างไร อาจจะเป็นเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วหรือกำลังปรากฏอยู่
๒. ข้อคิดเห็น เป็นข้อความแสดงความเชื่อหรือแนวคิดหรือความรู้สึกส่วนตัวที่ผู้กล่าวมีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ผู้อื่นอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้
๓. ข้อความแสดงอารมณ์ ข้อความชนิดนี้ทำให้ผู้รับสารจากบทเขียนหรือบทพูด รู้ได้ว่าผู้ส่งสารมีอารมณ์หรือความรู้สึกเป็นอย่างไรระหว่างที่ส่งสาร
กระบวนการคิดในการย่อความ
๑. วิเคราะห์ว่าต้นเรื่องเป็นงานเขียนชนิดใด เช่น บทความ นวนิยาย บทร้อยกรอง ฯลฯ๒. ต้องแยกได้ว่า สารนั้นเป็นข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น หรือแสดงอารมณ์ เริ่มเรื่องอย่างไร ดำเนินเรื่องอย่างไรและจบอย่างไร มีฉาก เหตุการณ์และตัวละครสำคัญ ๆ อะไรบ้าง
๓. พยายามตีความต้นเรื่องว่า ผู้เขียนมีจุดมุ่งหมายอย่างไร เช่น เพื่อให้ความรู้ เพื่อโน้มน้าวใจ เป็นต้น พิจารณาหาใจความและพลความ
การย่อความเพื่อประโยชน์ในการศึกษา
๑. การบันทึกรายงานการประชุม เป็นหน้าที่ของเลขานุการกลุ่ม เพื่อจะนำเสนอต่อที่ประชุม เป็นการเขียนรายงานสั้น ๆ หรือย่อความนั่นเอง การย่อความแบบนี้มิใช่เป็นการตัดความให้สั้น แต่เป็นการคัดเลือกข้อความที่สำคัญจากผู้พูดหลายคนมาเรียบเรียงใหม่๒. การย่อความรู้จากหนังสือเรียน หรือคำอธิบายของครูทำเป็นสังเขปเรื่อง เพื่อสะดวกในการทบทวนบทเรียน
๓. การเขียนคำตอบข้อสอบแบบอัตนัย ต้องอาศัยความสามารถในการย่อความ เพราะต้องย่อความรู้ทั้งหมดให้เหลือข้อความสั้น ๆ ที่จะเขียนตอบให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนดให้
Total Rating ✔
9.2 stars – 2,789 reviews
More Reviews
อ่านรีวิว ทั้งหมดคลิก
แสดงความคิดเห็น
การส่งสารด้วยการเขียน วิชาภาษาไทยมัธยมต้น
บทความจาก TutorFerry