สำรวจ
แนะนำ
สอบเข้า
ออนไลน์

ครูสอนพิเศษ คุณภาพอันดับ1

หาครูสอนพิเศษตัวต่อตัว คลิกเลย

ค้นหาด้วยเสียง
ค้นหาด้วยเสียงคลิกที่นี่

» » ตัวอย่างแผนการจัดการศึกษาครอบครัวแป้งหอม

05 กรกฎาคม 2558

ตัวอย่างแผนการจัดการศึกษาครอบครัวแป้งหอม

หลักสูตรการศึกษาโฮมสคูลของครอบครัวแป้งหอม

ตัวอย่างแผนการจัดการศึกษาครอบครัวแป้งหอม




แผนการจัดการศึกษาครอบครัวแป้งหอม

1.  ข้อมูลพื้นฐานของครอบครัว

คุณพ่อ นายไชยวัฒน์ แป้งหอม อายุ 46 ปี รัฐศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  (นิด้า)  ปัจจุบันประกอบอาชีพทนายความ
คุณแม่  นางชุมมาศ แป้งหอม  อายุ  43 ปี  สังคมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม  มหาวิทยาลัยมหิดล เคยสอนหนังสือระดับอุดมศึกษาและบัณฑิตศึกษามา  10  ปี  ปัจจุบันเป็นคุณแม่ของลูกตลอด  24  ชั่วโมง

ที่อยู่  34/28  หมู่  7 ซอยจามร (ค) ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี


เหตุผลในการจัดการศึกษาของครอบครัว

วิถีชีวิตของครอบครัวเป็นไปบนพื้นฐานแบบไทย  เน้นธรรมชาติผสมผสานกับเทคโนโลยีเท่าที่จำเป็น  คุณพ่อทำงานคนเดียว คุณแม่ทำหน้าที่แม่บ้านจัดการเรื่องลูกเป็นหลัก ให้ความสำคัญกับลูกเป็นเข็มทิศ  โดยพึ่งพิงกระบวนการทางสังคมและสาระทางวิชาการประกอบกันไป   แต่ทุกอย่างต้องไม่ขัดแย้งกับแนวคิดพื้นฐานของครอบครัวและการเรียนรู้อย่างมีความสุขของลูก
เหตุผลที่เลือกจัดการศึกษาโดยครอบครัวให้กับลูก  โดยสรุปที่สำคัญ  2  ประการ  ได้แก่

1. แนวคิดพื้นฐานของพ่อแม่ไม่สอดคล้องกับระบบการศึกษาในปัจจุบัน
2. ธรรมชาติของตัวลูก  พฤติกรรม  บุคลิกภาพ  ลักษณะนิสัย  ตลอดจนพัฒนาการด้านต่าง ๆ 
(ที่เฝ้ามองจากการเลี้ยงลูกด้วยตนเอง)  เห็นว่าไม่เหมาะกับการศึกษาในระบบ


กระบวนการต่าง ๆ  เพื่อการเตรียมความพร้อมของครอบครัว

1.  การอ่านหนังสือและความรู้เกี่ยวกับเด็ก สุขภาพ โภชนาการ จิตวิทยา สังคมวิทยา และอื่น  ๆ  ที่เกี่ยวข้อง  ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์
2. หลังคลอดเข้าสู่กระบวนการเลี้ยงลูก  ตามหลักการสมัยใหม่ผสมผสานกับข้อมูลดั้งเดิมจาก
คุณย่าคุณยาย  เป็นไปตามธรรมชาติจากความรักความรู้สึกของพ่อแม่ที่มีต่อลูก
3. เมื่อเริ่มตัดสินใจเลือกแนวทางจัดการศึกษาโดยครอบครัว  ได้ค้นหาข้อมูลที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในเรื่องทางการศึกษา   จากแหล่งข้อมูลเฉพาะเจาะจงทั้งจากหน่วยราชการ  สื่อมวลชน และครอบครัวผู้มีประสบการณ์จัดการศึกษามาก่อน
4.เริ่มลงมือจัดการศึกษาตั้งแต่เมื่อลูกอายุได้  2  ปี  6  เดือน  โดยเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มครอบครัวที่รวมตัวเป็นศูนย์ประสานงานการจัดการศึกษาโดยครอบครัว  เป็นสถาบันบ้านเรียนไทย  และเข้าร่วมการสัมมนาทางวิชาการต่าง  ๆ  ที่เกี่ยวข้อง
5. รวบรวมประสบการณ์ที่ได้จากการลงมือทำ  การสังเกต   การทดลอง  การเลียนแบบ  จนที่สุดมาเป็นแนวทางการจัดการศึกษาของครัวแป้งหอม

2.  ข้อมูลพื้นฐานของผู้เรียน

ด.ช.มาศวัฒน์ แป้งหอม อายุ 6 ปี 10 เดือน (เกิดวันที่ 3 เมษายน 2541) ยังไม่เคยเข้าเรียนในโรงเรียนระดับการศึกษาที่จัด   ระดับประถมศึกษา  ช่วงชั้นที่  1 ครอบครัวได้จัดโปรแกรมการเรียนรู้ที่เริ่มมีความเข้มข้นตั้งแต่อายุได้  3  ปี  ทุกโปรแกรมจะอยู่บนพื้นฐานการเล่นและพัฒนาการของตัวลูกเป็นหลัก  โดยแทรกอยู่ในวิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นจริงของครอบครัว

โปรแกรมการเรียนรู้ที่จัดเตรียมในช่วงอายุ  3 – 5  ปี  ได้แก่  
(1)  สีและรูปทรง  พร้อมทั้งการสร้างความสนใจในการวาดภาพระบายสี  
(2)  ตัวเลข  กระบวนการของการนับ  การทำความรู้จักกับตัวเลขทั้ง  10  ตัว  
(3)  ทำความรู้จักพยัญชนะไทยทั้ง  44  ตัว  
(4)  กิจกรรมกลุ่มกับเด็กทั้งวัยเดียวกันและต่างวัย  
(5)  สร้างสมาธิให้อยู่นิ่งกับที่ได้นาน ๆ   
(6)  ปลูกฝังให้รักการอ่าน  
(7)  ปลูกฝังเรื่องธรรมชาติ  
(8)  เชื่อมโยงสภาพสังคมระหว่างเมืองกับชนบท  
(9)  ปลูกฝังระเบียบวินัยภายในบ้าน 
 (10)  อบรมมารยาททั่วไปของสังคม


พัฒนาการเมื่ออายุได้  5  ปี

(1)  มีความแม่นยำในการแยกแยะสีและรูปทรง  การใช้สีมีการผสมผสานมากขึ้น  วาดภาพเป็นรูปเป็นร่าง  บอกเล่าอธิบายได้ถึงงานที่ตัวเองทำ  ทักษะการตัดกระดาษตามรูปร่างและตามเส้นทำได้ดีขึ้น  แต่โดยรวมแล้วความสนใจในการวาดภาพระบายสีถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน
(2)  สามารถนับจำนวนได้ถึงหลักร้อย  จำตัวเลขทั้ง  10  ได้แม่นยำ   เคยเข้าเรียนเสริมที่คุมองระยะหนึ่ง  แต่ลูกไม่ชอบจึงหยุดเรียน
(3)  จดจำพยัญชนะไทยได้ทั้งหมด   ถามตัวไหนก็สามารถตอบได้ทันที  มีพัฒนาการด้านการเขียนดีขึ้น  เขียนเป็นคำๆ  ได้อย่างถูกต้อง  เช่น  พ่อ  แม่  บ้าน   หมา  แมว  เป็นต้น  แต่ยังไม่สวยงาม
(4)  กิจกรรมกลุ่มกับเด็กๆ  เป็นสิ่งที่ลูกชอบมากที่สุด  ยิ่งมากคนยิ่งคึกคัก  เล่นได้กับคนทุกเพศทุกวัย  เมื่อพบกลุ่มเด็กด้วยกันจะวิ่งเข้าหาทันทีไม่ว่าจะรู้จักกันหรือไม่ก็ตาม  ถ้าถูกรังแกจะอดทนมากไม่ร้องไห้เว้นแต่จะเจ็บมากจริง  ๆ  ชอบการเล่นที่เป็นแบบเคลื่อนที่  วิ่ง  กระโดด  ขี่จักรยาน  ปีนป่าย   เล่นแบบออกกำลัง  การเล่นแบบนั่งอยู่กับที่  เช่น  เล่นขายของ  ต่อจิ๊กซอร์  จะเล่นอยู่ได้ไม่นาน
(5)  การสร้างสมาธิให้อยู่นิ่งนานขึ้น  ยังไม่สำเร็จ  ยังต้องเพิ่มวิธีการเพิ่มกิจกรรม  อาจต้องปล่อยเวลาให้ถึงวัยที่ความซนลดลงหรือเปลี่ยนเป็นความซนที่ลูกควบคุมได้เอง แต่จุดนี้ถือเป็นลักษณะเด่นของลูกก็ได้  คือ  แข็งแรง  มีพละกำลัง   คล่องแคล่ว  รวดเร็ว  มีแววของความเป็นนักกีฬา
(6)  ลูกรักหนังสือ  หนังสือที่ชอบจะเอามานั่งดูเป็นประจำ   แต่มักขอให้แม่อ่านให้ฟัง  พยายามสร้างความคุ้นเคยกับการสะกดคำ  การอ่านเต็มประโยค  ให้อ่านหนังสือจากเล่มที่ชอบ วันเว้นวันหรือเป็นช่วงๆ   เพื่อไม่ให้รู้สึกเบื่อหนังสือและรอให้มีความพร้อมในการอ่านมากกว่านี้
(7)ลูกชอบธรรมชาติพอๆ  กับเทคโนโลยี  สถานที่ไม่มีไฟฟ้า  น้ำประปา  ไม่สะดวกสบาย  ลูกยังสนุกได้เต็มที่ไม่เคยปฏิเสธที่จะไป   ชอบทะเล  น้ำตก   รักป่าที่เป็นป่า  ชอบแบบโลดโผนเผชิญภัยในธรรมชาติ  รู้ได้ถึงเรื่องการพยายามดูแลความสะอาดของแหล่งน้ำ  รู้จักเสียดายเมื่อเห็นไฟไหม้ป่า
(8)  ครอบครัวมีคุณปู่คุณย่าอยู่กำแพงเพชร  คุณตาคุณยายอยู่ชัยภูมิ  ตั้งแต่เล็กลูกมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมสม่ำเสมอ ได้เห็นวิถีชีวิตที่แตกต่าง  ได้สัมผัสเรียนรู้ทั้งด้านสังคม  ธรรมชาติ  ได้ทักษะที่ผสมผสานในการใช้ชีวิต  เป็นการเรียนรู้แบบสะสมประสบการณ์จากคนในครอบครัวต่างวัยต่างสถานที่  เป็นสาเหตุสำคัญทำให้ลูกเป็นเด็กที่ปรับตัวได้ง่ายและได้ดี   เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างเสริมทักษะชีวิต
(9)  ระเบียบวินัยภายในบ้าน  ลูกสามารปฏิบัติกิจวัตรในชีวิตประจำวัน  เช่น  การทานอาหารร่วมกัน  ช่วยคุณแม่ตากผ้า  เก็บของเล่น  เก็บหนังสือเข้าที่  และจัดการภารกิจส่วนตัว  อาบน้ำ  แปรงฟัน  แต่งตัวได้ด้วยตัวเอง
(10)  การอบรมมารยาททั่วไปของสังคม  พ่อแม่จะทำเป็นตัวอย่างพร้อมกับบอกย้ำในเรื่องสำคัญ   ลูกสามารถปฏิบัติได้ตามสมควร    เช่น  การยกมือไหว้สวัสดีผู้ใหญ่  การกล่าวคำขอโทษ   กล่าวคำขอบคุณ  การพูดจาสุภาพ   การเดินด้วยความระมัดระวัง  เป็นต้น




สรุปผลพัฒนาการในปัจจุบัน  เมื่ออายุ  6  ปี  10  เดือน

ด้านร่างกาย  

สูง  121  เซนติเมตร  น้ำหนัก  25.5  กิโลกรัม  สุขภาพแข็งแรง  ว่องไว  ปราดเปรียว  ชอบโลดโผน   ชอบการออกกำลังและกีฬา  วิ่งมากกว่าเดิน  มีความอดทนต่อความเจ็บปวดทางร่างกายสูงมาก   ไม่มีโรคประจำตัว


ทักษะทางด้านกีฬา  

ว่ายน้ำได้ดี   เข้าร่วมการแข่งขันว่าน้ำตั้งแต่ปี  2547   ขี่จักรยานได้คล่องแคล่วและได้ระยะทางไกล   วิ่งได้ดีทั้งระยะสั้นและระยะไกล

ด้านจิตใจ  

และสังคม  ร่าเริง  แจ่มใส  ซุกซน  ช่างพูดช่างคุย  ปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ดี   เป็นฝ่ายเข้าหาคนอื่นก่อนเสมอ  ไม่กลัวคนแปลกหน้า   ชอบการเข้าร่วมกิจกรรมกับทั้งต่างวัยและวัยเดียวกัน  มารยาทพื้นฐาน  เช่น  การเคารพผู้ใหญ่  การขอโทษ  ขอบคุณ  ทำได้ดี  มีความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น   มีความอยากรู้อยากเห็นตลอดเวลาจนเหมือนวุ่นวายในบางครั้ง   ยังไม่มีความเข้าใจเหตุการณ์ทางด้านนามธรรมบางอย่าง  เช่น  ความตาย  แต่สามารถเข้าใจความสัมพันธ์ในครอบครัวได้เป็นอย่างดี

ด้านสติปัญญา  

ชอบซักถามและสามารถพูดจาตอบโต้ได้ถูกต้องตามสถานการณ์   ไม่ชอบการคิดคำนวณในเชิงคณิตศาสตร์  แต่มีทักษะการคิดวิเคราะห์ในเชิงสังคมเหมาะสมกับสภาพและวัย  มีความจำระยะยาวดีแต่ความจำระยะสั้นต้องปรับปรุง  ยังขาดสมาธิในเรื่องที่ไม่สนใจ  เป็นเด็กในกลุ่ม  Practice  Learning  และ   Extrovert
ด้านอื่น  ๆ  รู้จักการเก็บออม  สะสมของเล่น   รักความอิสระ  ชอบที่โล่งกว้าง  ไม่ชอบอยู่ในห้องที่มีพื้นที่จำกัด   ยังขาดความระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัย


ความมุ่งหมายของครอบครัวในการจัดการศึกษาให้กับลูก

นอกเหนือจากจุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยทั่วไปแล้ว   ครอบครัวมีจุดมุ่งหมายโดยเฉพาะ  ดังนี้
1.  ต้องการให้เกิดการเรียนรู้อย่างอิสระ   เป็นไปตามธรรมชาติและศักยภาพของลูก  เป็นเรื่องที่อยากเรียนอยากรู้อย่างแท้จริง
2. สร้างค่านิยมและทัศนคติในด้านการศึกษาที่แตกต่างไปจากเดิม
3.  มุ่งสร้างเสริมคุณลักษณะที่ควรมีในตัวลูก  คือ  มีระเบียบวินัย  มีความรับผิดชอบ  ซื่อสัตย์สุจริต  รู้ผิดชอบชั่วดี  มีคุณธรรมจริยธรรมตามมาตรฐานอันเป็นคุณแก่ตนเองและสังคม  สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข


การจัดสาระ / ความรู้

1. จุดเน้นตามศักยภาพและพัฒนาการของลูก เน้นศักยภาพในเชิงกีฬาที่ลูกมีแววมาตั้งแต่เด็ก  กำหนดประเภทกีฬา  เวลาในการฝึกซ้อมและแข่งขัน   เรียนรู้กฎกติกามารยาทการเล่นกีฬาและการแข่งขัน  สร้างโครงสร้างทางร่างกายให้พร้อม  การดูแลฟื้นฟูกล้ามเนื้อ   การดูแลด้านโภชนาการโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
ประเภทกีฬาหลักที่กำลังเรียนรู้ฝึกฝน  ได้แก่  ว่ายน้ำ  วิ่ง  และจักรยาน ว่ายน้ำ เข้าเรียนว่ายน้ำอย่างถูกต้องตั้งแต่อายุ 4 ปี ที่โรงเรียนว่ายน้ำพรหมประทาน ซึ่งเป็นโรงเรียนว่ายน้ำที่ได้รับอนุญาตถูกต้องจากกระทรวงศึกษาธิการ  และสังกัดสมาคมว่ายน้ำแห่งประเทศไทย  โดยจะฝึกสัปดาห์ละ 4 วันๆ ละ 1 ชั่วโมง 30 นาที ถ้าเป็นช่วงก่อนการแข่งขัน 1 เดือนต้องซ้อมทุกวันๆ ละ  อย่างน้อย 1 ชั่วโมง ได้เข้าสู่กระบวนการเป็นนักกีฬาว่ายน้ำรุ่นอายุ 6  ปี ตั้งแต่ปลายปี 2547 เข้าร่วมแข่งขันในนามโรงเรียนว่ายน้ำพรหมประทาน 2ครั้ง ได้รับ 2 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง จากการแข่งขัน 4 รายการ
การวิ่ง   และขี่จักรยาน  ฝึกซ้อมสัปดาห์ละ  2  วันๆ  ละ 1  ชั่วโมง  ตามสถานที่ต่าง ๆ   ที่เหมาะสมภายใต้การดูแลของพ่อและแม่
ในอนาคต กีฬาที่มีความเป็นไปได้ที่ลูกสามารถจะพัฒนาไปเป็นนักกีฬาที่ยอดเยี่ยม ได้แก่ ไตรกีฬา

2. สาระที่จำเป็นอันเหมาะสมกับสภาพและวัยและการดำรงตนในสังคม
  • ภาษาไทย  เน้นการอ่านและเขียนที่ถูกต้องตามหลักภาษาไทย  ให้มีการเขียนบันทึกประจำวัน  เขียนจดหมายโต้ตอบกับเพื่อน  เชื่อมโยงภาษากับการสื่อสารที่ทำให้ได้ฝึกทักษะการเขียนอ่านและเพิ่มความซับซ้อนของมิติทางสังคม
  • คณิตศาสตร์  เน้นเรื่องระบบจำนวน  การนับ  หลักเลข  การบวก  ลบ  คูณ  หาร  เครื่องหมายและสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์  รูปทางและการคิดคำนวณ
  • วิทยาศาสตร์  เน้นการเรียนรู้ของจริงจากธรรมชาติรอบตัวมากกว่ารู้จักในหนังสือตำรา   เมื่อเห็นและสัมผัสจากของจริงแล้วจึงเข้าสู่กระบวนการเพิ่มเติมสาระจากตำรา  เช่น  รู้จักการเจริญเติบโตของต้นไม้  จากการปลูกและเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลง  รู้จักร่างกายจากการพิจารณาเปรียบเทียบร่างกายของตนกับของพ่อแม่ของเพื่อน  ๆ  เรียนรู้เรื่องโลกและธรรมชาติจากทุกที่ๆ  ไป  ทุกที่ๆ  อยู่  เป็นต้น  มีลักษณะสะสมความรู้และประสบการณ์ไปตามสภาพและวัย  ที่เชื่อมโยงถึงกันตลอดเวลา  เรื่องใดที่ลูกสนใจแม้อาจไม่ตรงหรือไม่มีในหลักสูตรครอบครัวก็จะนำพาไปสู่แหล่งความรู้และการค้นหาข้อมูลร่วมกัน  เพื่อให้เกิดองค์ความรู้และนำมาใช้ประโยชน์ได้ในสถานการณ์จริง
  • ศาสนา  สังคม  ศิลปวัฒนธรรมและจารีตประเพณี  เรียนรู้จากกระบวนการจริงในการใช้ชีวิต  การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม  ศาสนา  ประเพณี  สัมผัสทุกอย่างจากชีวิตประจำวันที่เติบโตอยู่ท่ามกลางสังคมที่เป็นจริง  เรียนรู้การอยู่ร่วมกันผ่านกิจกรรมกลุ่มที่ดำเนินอย่างสม่ำเสมอทั้งภายในและภายนอกครอบครัว  เรียนรู้การมีคุณธรรมจากการถ่ายทอดการเห็นตัวอย่างที่ดีจากพ่อแม่  ปู่ย่าตายาย  ลุงป้าน้าอา   และการสกัดกั้นสิ่งที่ไม่เหมาะสม  พยายามขัดเกลาลักษณะนิสัยที่ดีฝึกปฏิบัติจนเกิดเป็นแบบแผนประจำตัวติดกายติดใจเด็กตลอดไป   หากลูกมีความต้องการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งในเรื่องใดจะนำพาเข้าสู่กระบวนการค้นคว้าข้อมูลจากทุกแหล่ง  ทุกสื่อ  อันเป็นการต่อยอดความรู้ยิ่งๆ  ขึ้นไป
  • เทคโนโลยี  เรียนรู้จากการปฏิบัติในวิถีชีวิต  ให้สามารถใช้อุปกรณ์ทุกอย่างได้เมื่อจำเป็น  เน้นการใช้เพื่อการสื่อสารที่ถูกต้อง  เรียนรู้ถึงพัฒนาการของอุปกรณ์แต่ละอย่าง   ภายใต้การดูแลของพ่อแม่อย่างใกล้ชิดและเท่าที่จำเป็น  โดยครอบครัวจะเน้นกระบวนการตามธรรมชาติก่อนเสมอ   สำหรับคอมพิวเตอร์  เน้นการใช้เพื่อทักษะการค้นหาความรู้  ด้วยการเล่น  Education  game  และ  Internet
  • ศิลปะ  เป็นเรื่องที่ลูกไม่ชอบ  มีความสนใจและพัฒนาการน้อยมากเมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน  จะไม่กำหนดสาระตายตัวแต่ใช้วิธีชี้ให้ดู  ชวนกันเล่น  ชวนกันทำ   ไม่จำกัดเวลาแต่ประมาณสัปดาห์ละ  3 – 4  ครั้ง  โดยให้มีความเชื่อมโยงกับสาระทางวิทยาศาสตร์  รูปทรงเรขาคณิต  และสาระความรู้อื่น  ๆ  ด้วย  เพื่อสร้างความสนใจและความคุ้นเคยคิดความรู้อย่างเป็นธรรมชาติ

การจัดกระบวนการเรียนรู้

1.  สิ่งที่บอก  ที่สอน  ที่อบรมและปฏิบัติต่อลูก ล้วนเกิดจากธรรมชาติในความรักที่มีต่อลูกและเป็นตามธรรมชาติของความสัมพันธ์ในครอบครัว ทุกอย่างออกมาจากภายในแล้วจึงเพิ่มเติมปรับปรุงแต่งด้วยความรู้จากหนังสือตำราจากสังคมภายนอก จากประสบการณ์การเลี้ยงดูลูกด้วยตัวเองตลอด 24  ชั่วโมง  พบว่า การเรียนรู้ของลูกมีอยู่ตลอดเวลาในการใช้ชีวิตปกติประจำวัน   ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของพ่อแม่ให้เกิดมีขึ้นตามไปด้วย สิ่งที่ลูกไม่ต้องเผชิญคือการรีบตื่นนอนเพื่อไปโรงเรียน ลูกจึงมีเวลาเป็นของตัวเอง  ตื่นนอนเองในตอนเช้าเป็นเวลาสม่ำเสมอทุกวันโดยไม่ต้องปลุก เกิดการเรียนรู้อย่างอิสระตลอดทั้งวันด้วยตัวเอง ลูกจะเป็นผู้เชิญชวนให้พ่อแม่จัดสรรข้อมูลให้ตามที่อยากรู้ อยากเล่น  อยากเรียน หมุนเวียนไปตามความสนใจกลายเป็นแบบแผนเวลาโดยอัตโนมัติ วงจรของลูกเกิดตามพัฒนาการตามวัยและตามลักษณะของตัวลูกเอง แม่เคยลองจัดเวลาให้อยู่ช่วงหนึ่งแล้วไม่ได้ผล จึงปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติของลูก  ในที่สุดก็เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ลูกเป็นผู้นำ พ่อแม่เป็นผู้ตาม ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องจัดตารางเวลา  เพียงแต่พ่อแม่คอยสังเกตความเปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนการส่งเสริมสนับสนุนตามพัฒนาการของลูก

2.  พัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองให้เกิดกับลูกอย่างต่อเนื่อง ด้วยการ
     2.1  ให้ลูกสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง  เน้นการค้นคว้าหาข้อมูลโดยตรงจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย  โดยอาศัยพื้นฐานความสามารถจากการอ่านและเขียน  ไม่เน้นการท่องจำแต่จะเน้นการเข้าสู่ข้อมูลด้วยการค้นคว้าและการจดบันทึก
    2.2  ให้ลูกสร้างสาระการเรียนรู้ที่ตนเองพึงพอใจ  จัดเนื้อหาเองตามความสนใจความอยากรู้  แม้จะไม่สอดคล้องตามลำดับของหลักสูตรกระทรวง  เพื่อให้เกิดการก่อรูปทางความคิดความรู้อย่างเป็นธรรมชาติ
     2.3 ให้ลูกพัฒนาทุกอย่างด้วยตนเองตามศักยภาพที่มีอยู่ในตัว ไม่มีการบังคับเรื่องเวลาเรียนหรือแบบแผนการเรียนรู้ แต่จัดสาระความรู้ที่เหมาะสมกับสภาพและวัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง

3.  เชื่อมโยงความสัมพันธ์ในการใช้ชีวิตที่เป็นจริงประกอบกับข้อมูลต่างๆโดยนำความสนใจใคร่รู้ของลูกมาเป็นตัวหลักในการจัดสาระการเรียนรู้ที่สูงขึ้นเป็นลำดับ ภายใต้สถานการณ์จริง ในการสนับสนุนดูแลให้คำแนะนำของคนในครอบครัว ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญ สถาบันที่เป็นตัวแทนขององค์ความรู้เหล่านั้น

4.  เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในองค์ความรู้ที่จำเป็น เช่น ด้านกีฬา โภชนาการ ภาษาอังกฤษ  

5.  เรียนรู้จากห้องเรียนในโลกกว้าง  โดยพิจารณาจากความสนใจของลูกและสภาพความ สัมพันธ์ของครอบครัวกับเครือญาติและสังคมภายอนก  มีการบันทึกข้อมูลเหตุการณ์และผลที่เกิดขึ้นในทางการเรียนรู้  เช่น  
  • ความพึงพอใจ  
  • ความสนใจต่อเนื่อง  
  • ความรู้ความเข้าใจที่แสดงออก  

ตัวอย่างกิจกรรมห้องเรียนในโลกกว้าง ได้แก่ การไปเยี่ยมคุณปู่คุณย่าที่กำแพงเพชร  เยี่ยมคุณตาคุณยายที่ชัยภูมิ   ร่วมดูคุณพ่อทำงานโดยเฉพาะเมื่อไปทำงานต่างจังหวัด  ร่วมเทศกาลงานประเพณีในชุมชน  ไปแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์   วิทยาศาสตร์  และอื่น  ๆ  เป็นต้น

6.  กิจกรรมกลุ่มครอบครัวร่วมเรียนรู้  เป็นการรวมกลุ่มเรียนรู้ร่วมกับครอบครัวด้วยกัน  และครอบครัวอื่น  ๆ  เพื่อให้เกิดการเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันทั้งของพ่อแม่และเด็ก  เน้นการปฏิบัติเสริมทักษะประสบการณ์มากกว่าทางวิชาการ  และพยายามให้มีความต่อเนื่องเพื่อต่อยอดประสบการณ์ความรู้  กิจกรรมมีทั้งลักษณะครอบครัวช่วยกันจัดขึ้นในรูปค่ายเรียนรู้  การไปทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ต่างๆ  การเรียนรู้จากวิทยากร  ผู้เชี่ยวชาญ  ปราชญ์ชาวบ้าน   ภูมิปัญญาท้องถิ่น

7.  การใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้ พ่อแม่ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับลูก ทุกอย่างถูกถ่ายทอดภายใต้เงื่อนไขของความเป็นจริง ทั้งความรู้  ทัศนคติ  อารมณ์  ตลอดจนกระบวนการขัดเกลาทางสังคม  (Socialization)   ทำให้เกิดพัฒนาการที่ตัวพ่อแม่และถ่ายทอดสิ่งที่เหมาะสมดีงามให้กับลูกอย่างเป็นธรรมชาติ  และเป็นพื้นฐานสำคัญก่อให้เกิดความแข็งแกร่งของครอบครัวในทุกด้าน   สำหรับสื่ออื่น ๆ  ได้แกหนังสือ  ตำรา  เอกสาร  สื่อเทคโนโลยี  วีดิทัศน์  คอมพิวเตอร์  อินเทอร์เน็ต   สื่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เป็นต้น  ทั้งหมดได้จัดเตรียมไว้ทุกสาระและสาขาวิชาที่เหมาะสมกับสภาพและวัยของลูก  พร้อมเพื่อการใช้งาน


แนวทางการวัดและประเมินผล

  • วัดจากพัฒนาการความก้าวหน้าในแต่ละด้าน  เน้นการปฏิบัติ
  • การเก็บชิ้นงานจากผลการทำงานตามที่มอบหมาย
  • จากการสังเกต  พูดคุย  การทดสอบด้วยวิธีโต้ตอบ  (สัมภาษณ์หรือ Oral  Test) เพื่อให้ถ่ายทอดแสดงความคิดเห็นอันมีลักษณะเฉพาะหน้า
  • สอบถามจากบุคคลรอบข้างที่เกี่ยวข้องทั้งที่เป็นนครั้งคราวและใกล้ชิดกับลูก  โดยเฉพาะในเรื่องไหวพริบสติปัญญา  การโต้ตอบเชิงเหตุผล  การแก้ปัญหา  ลักษณะนิสัย  มารยาท  เป็นต้น
  • บันทึกกิจกรรมการเรียนรู้เป็นลายลักษณ์อักษร  ด้วยภาพถ่าย  ภาพเคลื่อนไหว โดยพ่อแม่



โครงสร้างหลักสูตรครอบครัวแป้งหอม  ช่วงชั้นที่  1   

การจัดทำโครงสร้างหลักสูตรครอบครัวแป้งหอม  คณะผู้จัดทำได้ร่วมหารือกับคุณชุมมาศ แป้งหอม มารดาเด็กชายมาศวัฒน์ แป้งหอม โดยขั้นแรกหาชั่วโมงเรียนใน 1 สัปดาห์ แล้วหาค่าน้ำหนัก หลังจากนั้น ปรับค่าน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์ที่หลักสูตรกำหนด คือ ประมาณ 25 หน่วยน้ำหนักต่อปี  
ซึ่งครอบครัวแป้งหอมจะให้ความสำคัญกับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และสุขศึกษาและพลศึกษา มากที่สุด   คณิตศาสตร์ และศิลปะ น้อยกว่ากลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ


หาครูสอนพิเศษที่บ้าน ต้องการเรียนพิเศษที่บ้าน Tutor Ferryรับสอนพิเศษที่บ้าน



หมายเหตุ
1.  ครอบครัวจัดการศึกษาโดยไม่มีวันหยุดและมีกิจกรรมตลอด
2.  ปรับค่าน้ำหนัก/หน่วยกิต ให้อยู่ใกล้เคียงกับเกณฑ์ที่กำหนด (ไม่ควรเกิน 22 – 25/ปี)






Total Rating ✔

9.2 stars – 2,789 reviews

More Reviews

แสดงความคิดเห็น

ตัวอย่างแผนการจัดการศึกษาครอบครัวแป้งหอม

การศึกษาทางเลือก, Home School, News