สำรวจ
แนะนำ
สอบเข้า
ออนไลน์

ครูสอนพิเศษ คุณภาพอันดับ1

หาครูสอนพิเศษตัวต่อตัว คลิกเลย

ติวสอบทุนนักบิน Student Pilot

ค้นหาด้วยเสียง
ค้นหาด้วยเสียงคลิกที่นี่

» » ตัวอย่างแผนการจัดการศึกษาครอบครัวสังวรเวชภัณฑ์

03 กรกฎาคม 2558

ตัวอย่างแผนการจัดการศึกษาครอบครัวสังวรเวชภัณฑ์

เรียนพิเศษตัวต่อตัวที่บ้านหลักสูตรโฮมสคูล กับทีมติวเตอร์คุณภาพ รับประกันผลและความพอใจ เรียนพิเศษที่บ้าน หรือสถานที่ ที่ผู้เรียนสะดวก เรียนก่อน จ่ายทีหลัง สะดวก ปลอดภัย

ตัวอย่างแผนการจัดการศึกษาครอบครัวสังวรเวชภัณฑ์




แผนการจัดการศึกษาครอบครัวสังวรเวชภัณฑ์

1.  ข้อมูลพื้นฐานของครอบครัว

บิดา  นายแดนสรวง  สังวรเวชภัณฑ์  ครุศาสตรบัณฑิต  (ศิลปศึกษา)  อายุ  47 ปี อาชีพอิสระ ประสบการณ์การทำงาน  ช่างภาพอิสระ  ออกแบบสิ่งพิมพ์  บรรณาธิการหนังสือศิลปะ  แสดงงานนิทรรศการศิลปะ  อาจารย์พิเศษวิชาภาพถ่าย  คณะศิลปกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   อาจารย์พิเศษวิชาศิลปะและคอมพิวเตอร์  มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

มารดา  นางอรวรรณ  สังวรเวชภัณฑ์  ครุศาสตร์บัณฑิต  (ศิลปศึกษา)   อายุ  39  ปี  อาชีพแม่บ้าน  ประสบการณ์การทำงาน  งานออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้า  วาดภาพประกอบนิตยสาร

ที่อยู่  205/49  ซอยผาสุกสันติ  2  หมู่บ้านผาสุก  เขตประเวศ  กทม. 10250


วิสัยทัศน์ในการจัดการศึกษาของครอบครัว

ภาวการณ์เรียนรู้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่สามารถเป็นอิสระอยู่เหนือระบบใดๆ ได้  ด้วยการพึ่งพาความคิด   จิตใจ  และสติปัญญาของตนเอง  การเรียนรู้ที่แท้จริงเป็นกระบวนการแห่งชีวิตที่ไม่มีจุดสิ้นสุดตายตัว  แต่สามารถบรรลุสู่เป้าหมายเป็นขั้น  ๆ  ดังนั้นในการจัดการศึกษาจึงควรมุ่งเน้นไปสู่ทักษะการเข้าถึงความจริงทั้งหมดในหลาย ๆ มิติ เป็นการเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์สาขาเข้าสู่องค์รวมเดียวกัน  ภาพที่แจ่มชัดในมโนคติเกี่ยวกับสิ่งที่ปรากฏการณ์ทั้งหมด จะต้องถูกเชื่อมต่อเข้าสู่ประการณ์สำคัญในกระบวนการเรียนรู้  สู่แรงบันดาลใจในศิลปะ  วิทยาศาสตร์  และศาสนา   ซึ่งจะน้อมนำสู่ความกระตือรือร้นในการงานแห่งการอุทิศตน  จากภารกิจน้อย ๆ  ในมือที่ได้รับผิดชอบไปสู่การต่อยอดความรู้ใหม่อย่างสร้างสรรค์   ญาณทัศนะเหล่านี้จะตกผลึกเป็นประสิทธิภาพในการแยกแยะ  วิเคราะห์และสังเคราะห์ความหมายแห่งการดำรงชีวิต  อันจะนำไปสู่วิธีการทางปัญญาที่จะเข้าถึงความรู้แห่งชีวิตอย่างเป็นอิสระลุ่มลึกและเชื่อมโยง  กระบวนการเรียนรู้ในเชิงบูรณาการกับมิติรอบด้านแห่งองค์ความรู้จึงเป็นตัวตั้งในการพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้ไปสู่ศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
ความจำเป็นแห่งศตวรรษหน้าในสังคมแห่งการเรียนรู้ที่แท้จริง  โลกเราต้องการเมล็ดพันธุ์  ที่มีความสามารถในการผสมผสานศาสตร์ทุกสาขาที่ทวีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน   ให้ถูกนำไปใช้ในการจัดการอย่างสมดุลต่อโลกที่มีทรัพยากรจำกัด  บนวิถีชีวิตที่เกื้อกูลและยั่งยืน  ในอุดมคติแบบพอเพียง


เหตุผลหรือมูลเหตุในการจัดการศึกษาโดยครอบครัว

จากการพิจารณาของพ่อแม่  ตัดสินใจเลือกการจัดการศึกษาโดยครอบครัวด้วยความเห็นพ้องต้องกันด้วยทัศนคติความเชื่อและสาเหตุปัจจัยต่าง ๆ  ดังนี้

1.  มีทัศนะแตกต่างไปจากการศึกษาในระบบปัจจุบัน  เชื่อว่าการศึกษามีทางเลือกอื่น ๆ ที่สามารถบรรลุสู่เป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าระบบโรงเรียน โดยเฉพาะการบ่มเพาะปลูกฝังอุดมคติ จริยธรรมและคุณธรรมอันจะเป็นตัวชี้นำความรู้และนำทางในการพัฒนาชีวิตไปสู่เป้าหมาย ที่แท้จริง ซึ่งเป็นบทบาทและภารกิจสำคัญของพ่อแม่ต่อบุตรของคน  ในความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้นพัฒนามาจากการค้นหาตัวเอง  รู้จักตัวเอง  นำไปสู่ความตระหนักรู้ในตัวตนเอง  ซึ่งสำคัญมากกว่าการค้นหาความเป็นเลิศหมายถึง  ระบบโรงเรียนที่มุ่งแข่งขันไปสู่ความเป็นเลิศสูงสุดได้กลายเป็นความกดดันและข้อจำกัดในการเรียนรู้ตามธรรมชาติ

2.  พ่อแม่มีปัจจัยความพร้อมที่จะทุ่มเทเวลาและพลังในการเรียนรู้ด้วยสายสัมพันธ์แห่งความรัก  เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ทั้งชีวิตครอบครัว  โดยเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างครอบครัวให้เข้มแข็ง   และเป็นชุมชนเรียนรู้หน่วยย่อยที่จะเชื่อมต่อกับเครือข่ายครอบครัวอื่น ๆ  ไปสู่สังคมเรียนรู้ได้

3.  วัยเด็กเป็นช่วงวัยที่พร้อมจะเรียนรู้  สามารถซึมซับแบบอย่างได้อย่างรวดเร็วและฝังลึก   เป็นช่วงเวลาทองที่จะปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีงาม ทัศนคติเชิงบวก ความสามารถที่จะเรียนรู้ได้ทุกพื้นที่ ทุกเวลา ทุกสถานการณ์ของชีวิต  อันเป็นวิถีชีวิตที่เป็นจริงมากกว่าการเรียนวิชาความรู้สำเร็จรูปจากแบบเรียน

4.  องค์ความรู้ทุกวันนี้ขยายขอบเขตและเปลี่ยนแปลงไปสู่ความซับซ้อนมากขึ้น  วิถีการเรียนรู้แบบเดิมกำลังจะกลายเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงความรู้ที่หลากหลายในยุคสมัยปัจจุบัน


2. ข้อมูลพื้นฐานของผู้เรียน

ด.ช.ดล  สังวรเวชภัณฑ์  อายุ  7  ปี
ระดับการศึกษาที่จัด ระดับประถมศึกษา  ช่วงชั้นที่  1

พัฒนาการโดยทั่วไป
ช่วง  1– 3 ปี  ลูกเป็นเด็กเดินได้ช้า  ไม่ซุกซน  แต่พัฒนากล้ามเนื้อเล็กได้เร็ว  มักชอบเปิดดูหนังสือภาพและขีดเขียน  ชอบเดินดูธรรมชาติรอบตัวมากกว่าวิ่งเล่น จากผลพวงของพัฒนาการเหล่านี้ต่อมาในช่วงวัย  3 – 7  ปี  จะพัฒนาการการเรียนรู้ทั้งในการพูด  คิด  อ่าน  เขียน  โดยมีแรงบันดาลใจ   มีความถนัดความชอบที่จะถ่ายทอดทางด้านศิลปะและธรรมชาติเป็นพิเศษ  มีทักษะทางด้านมิติสัมพันธ์  มีสมาธิในงานที่สนใจค่อนข้างสูง  มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์  เป็นเด็กช่างสังเกต  มีความคิดละเอียดอ่อนและอารมณ์ค่อนข้างอ่อนไหว   มีความคิดที่มีเหตุผลชอบเชื่อมโยงสาเหตุปัจจัยปรากฏการณ์ธรรมชาติอยู่เสมอ ๆ  แต่พูดน้อยและขี้อาย  จากการประเมินของพ่อแม่พบว่ามีทักษะและพัฒนาการในด้านต่าง ๆ  ดังนี้

ภาษาไทย  อ่านคำง่าย ๆ  และอ่านนิทานเรื่องสั้นให้น้องฟังได้  เขียนประโยค  เล่าเรื่องถ่ายทอดอย่างง่าย ๆ  ได้

ภาษาอังกฤษ  เขียนอักษร  ตัวนำตัวตามคำศัพท์ง่าย ๆ ได้  แต่จะจำเสียงและความหมายได้มากกว่า

คณิตศาสตร์ นับ 1 – 100 ได้  บวกลบเลขสองหลักโจทย์ระคนได้  อ่านโจทย์บวกลบได้

วิทยาศาสตร์  มีความรู้เรื่องพืช  แมลงและหนอน  โดยเฉพาะผีเสื้อ  มากพอสมควร

ดนตรี  เล่นและอ่านโน้ตไวโอลินได้  7 – 8  เพลง

กีฬา    ชอบเป็นพิเศษคือขี่จักรยาน

ประสบการณ์การศึกษาในระบบ  เคยเข้าเรียนโรงเรียนอนุบาล  ถึงชั้นอนุบาล  2


เป้าหมายหลักในการจัดการศึกษา


การศึกษาเป็นไปเพื่อพัฒนามนุษย์สู่ศักยภาพสูงสุดตามปัจเจกบุคคล  และสามารถบรรลุ
สู่ขั้นปัญญาในระดับต่าง ๆ  ด้วยสำนึกตามธรรมชาติของแต่ละคน  ตระหนักรู้ถึงแก่นแท้ของตัวเองและองค์รวมสัมพันธ์เข้าถึงธรรมชาติและมิติสัมพันธ์ในองค์ความรู้ทุก ๆ  พรมแดน  มีทักษะแห่งสมดุลชีวิต  มีจินตนาการและจิตสำนึกแห่งคุณค่าในคุณธรรมสากล  สามารถกำหนดภารกิจแห่งชีวิตด้วยตนเองและสอดคล้องกับพันธกิจทางสังคมด้วยความคิดสร้างสรรค์  สามารถพึ่งพาตนเองได้ทั้งทางความคิด ปัญญา  และเนื้อหาชีวิตอย่างเบิกบาน  ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อวิถีชีวิตทั้งมวลสู่ภารกิจต่อสังคมและโลก โดยจะถูกสืบทอดสู่เจตนารมณ์อื่น ๆ  ในมิติและขอบเขตที่กว้างขึ้น  รวมทั้งความรับผิดชอบต่อองค์ความรู้ที่จะกระตุ้นเตือนเจตนารมณ์อื่น ๆ  ในมิติและขอบเขตที่กว้างขึ้น  รวมทั้งความรับผิดชอบต่อองค์ความรู่ที่จะกระตุ้นเตือนเจตคติต่อเพื่อนมนุษย์และเข้าใจถึงบทบาทและผลพวงของการดำเนินชีวิตในบริบทที่ซับซ้อนอย่างเชื่อมโยงกัน



จุดมุ่งหมายในการศึกษา

มุ่งหวังให้เกิดการเรียนรู้ที่มีพัฒนาการตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ  ซึ่งให้ผลงอกงามทั้งด้านจิตใจ  ร่างกาย  ปัญญาและสังคม   ไปสู่คุณค่าความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้  โดยใช้เป้าหมายเดียวกันกับมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ให้ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์  ดังนี้

1.  ขยัน ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน สามัคคี มีวินัย มีความรับผิดชอบ คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม
2.  มีคุณธรรมนำชีวิต ปฏิบัติฝึกหัดตามหลักธรรมของศาสนาที่ตนนับถือโดยความเชื่อและศรัทธา
3.  ตระหนักรู้ในตนเอง  เห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น  มีความมั่นคงทางอารมณ์
4.  มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต  ใฝ่รู้  ใฝ่เรียน  รู้วิธีการเรียนรู้ รักการอ่าน
5.  มีทักษะในการถ่ายทอด สื่อความหมายและเข้าถึงความรู้ ในการใช้ภาษาไทยและสากล
6.  มีทักษะในการทำงาน การจัดการ รักการทำงาน และมีเจตคติที่ดีต่อการงานและภารกิจที่รับผิดชอบ
7. มีทักษะความรู้วิชาการ เช่น วิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์  เทคโนโลยีและวิทยาการด้านอื่นๆ
8.  มีความคิดเชิงระบบ  คิดอย่างมีวิจารณญาณ  และคิดอย่างสร้างสรรค์
9.  รักการออกกำลังกาย  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  และมีสมรรถภาพทางกาย
10. รู้จักดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง ครอบครัวและชุมชน ป้องกันตนเองจากสารเสพติดและอบายมุข
11.  มีลักษณะนิสัยที่ดีในการบริโภค  เลือกและตัดสินใจบริโภคได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
12. เห็นคุณค่าในความงามของศิลปะและธรรมชาติ
13. มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  พลังงาน  และสิ่งแวดล้อม
14. รักท้องถิ่น  ประเทศชาติ และความเป็นไทย  สืบสานมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย
15. มีจิตสำนึกและปฏิบัติตนตามวิถีทางประชาธิปไตย รักษาสิทธิเสรีภาพตนเอง และเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น


การจัดสาระ/ความรู้

สาระองค์รวมสัมพันธ์ การจัดการศึกษาของครอบครัวจะเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและมีธรรมชาติศึกษา  เป็นแกนกลางแห่งบูรณาการองค์ความรู้  สร้างกระบวนการสังเคราะห์เชื่อมต่อการเรียนรู้ทั้งหมดเข้าสู่ผลิตผลทางความคิดและจินตนาการผ่านกระบวนการทางศิลปะ  เชื่อมต่อสู่แขนงความรู้แยกย่อย  ครอบคลุมและสอดรับกับมาตรฐานการเรียนในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  โดยมีภาพรวมของกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง  8  กลุ่มสาระรวมอยู่ด้วย  สาระความรู้แต่ละด้านได้รวบรวมจัดกลุ่มขึ้นอย่างมีนัยยะของความเป็นองค์รวมสัมพันธ์  ดังนี้


  • ธรรมชาติศึกษา  ต้นธารแห่งความหมายและแม่บทศึกษาที่จะเข้าถึงความจริงทั้งหมดในบริบทที่ซับซ้อนของสรรพชีวิต  อันรวมถึงตัวเราที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  โดยมีฐานองค์ความรู้ของวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยี  ประยุกต์วิทยาและระบบสัมพันธ์  เป็นสำคัญ
  • มนุษย์และสังคมวิทยา  ความเป็นไปที่แท้จริงระหว่างตัวเราและเพื่อนมนุษย์ไปจนถึงสังคมโลกที่อิงอาศัยกัน  และมีที่มาความเป็นไปตามปรากฏการณ์ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันทั้งระบบ  ภายใต้เส้นเวลาเดียวกัน   อันรวมถึงภูมิศาสตร์  ประวัติศาสตร์  มานุษยวิทยา  วัฒนธรรม  วิถีแห่งภูมิปัญญาตะวันออก – ตะวันตก  และภูมิปัญญาไทย
  • คณิต  ตรรกะ สัญญะ และมิติ  การเข้าถึงธรรมชาติแห่งกฎเกณฑ์และระบบเงื่อนไข  ปริมาณ  จำนวน  รูปทรงแห่งที่ว่าง  เวลาและอาณาเขต  โดยการผ่านสัญลักษณ์ตัวเลขและรูปทรงเรขาคณิต  เชาว์ปัญญา  โครงสร้างและมิติสัมพันธ์  เพื่อหยั่งรู้ถึงปริศนาภาวะแห่งแบบแผนซึ่งกำกับชีวิตและธรรมชาติ
  • ระบบสื่อสารและภาษาความหมาย  รหัสความหมายผ่านอักขระสู่ไวยากรณ์ภาษาไทย  ภาษาต่างประเทศ  ระบบแห่งความหมาย  การถ่ายทอด  การตีความ  วิธีสื่อความหมาย  รวมถึงระบบสารสนเทศสากล  และการจัดการสารสนเทศ
  • ศาสนาและจริยธรรม  วิธีการทางปัญญาที่จะเข้าถึงความจริงที่แท้แห่งคุณธรรม  ที่มาแห่งความเชื่อและศรัทธา  กฎเกณฑ์แห่งชีวิต พุทธประวัติ  ธรมศึกษา  พระคริสต์ธรรมหนทางนำชีวิต  จริยธรรมสากล  ประวัติศาสดาอื่น  ๆ   รวมถึงวิถีปฏิบัติสู่เป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิต
  • ดุลยภาพกายและจิต  กลไกแห่งชีวิต  ระบบสมดุลแห่งชีวิตและธรมชาติ  ดุลยภาพแห่งกายและจิตรวมถึงสันทาการกีฬา   สุขชีวิตสู่กระบวนการทางสังคม  วิถีชุมชนและภาวะแวดล้อมสัมพันธ์ที่เสริมสร้างคุณภาพชีวิต
  • สุนทรีย์  จินตสังเคราะห์  จินตนาการแห่งความคิดสร้างสรรค์  ภาษาความคิด  อารมณ์และความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน  ศาสตร์แห่งการเชื่อมต่อความหมายแห่งความรู้ให้เคลื่อนไหว  จุดประกายสู่ความคิดใหม่  การเข้าถึงความดี  ความงามและความจริง  ด้วยการสังเคราะห์จากจินตนาการความรู้ไปสู่กระบวนการทางศิลปะทุกแขนง  อันจะนำไปสู่การตระหนักรู้โดยธรรมชาติ


การจัดกระบวนการเรียนรู้

แนวคิดสำคัญในการจัดกระบวนการเรียนรู้
- ส่งเสริมสร้างเหตุปัจจัย  เนื้อหาชีวิต  และเนื้อหาวิชาให้หลอมรวมเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้โดยประสบการณ์จริง  โดยใช้ธรรมชาติรอบตัวเป็นห้องเรียนใหญ่  เอื้ออำนวยไปสู่ภาวะความพร้อมที่จะเรียนรู้เต็มประสิทธิภาพ  โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและมีส่วนร่วมในแผนการเรียนรู้
-  กิจกรรมชีวิต  จังหวะขั้นตอนของชีวิตที่สำคัญ  ปรากฏการณ์จากความจริงทั้งหมด  จะเป็นตัวบทที่กระตุ้นปฏิบัติสัมพันธ์ทั้งภายในและภายนอกให้ถึงจุดเปลี่ยนในการเรียนรู้ทุก ๆ  ขั้น  อันเป็นผลมาจากการสืบค้นหาคำตอบ  ทดลอง  ปฏิบัติจริงและวิเคราะห์ด้วยตัวเอง
- สัมพันธภาพกับผู้รู้  และการหาความรู้จากผู้ชำนาญการในแต่ละด้าน  โดยการฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง สะสมประสบการณ์ไปสู่ทักษะความชำนาญ  จะเป็นการต่อยอดและเติมเต็มภาวะแห่งการเรียนรู้
- เรียนรู้ “วิธีการเข้าถึงความรู้”  มากกว่า “ตัวความรู้”  จะเป็นกระบวนการที่ผลักดันให้เกิดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ไปตลอดชีวิต
- ความยืดหยุ่นและหลากหลายในการจัดการเรียนรู้  ปรับเปลี่ยนได้เป็นพลวัตไม่ตายตัว  เกิดขึ้นได้ทุกขณะ  มีอิสระ  มีเสรีภาพ  ตามพัฒนาการที่เกิดขึ้นจริง  และเป็นการเรียนรู้ร่วมกันของทั้งครอบครัว  ถือเป็นพื้นฐานอันสำคัญ


การจัดกลุ่มกิจกรรมเรียนรู้

จากโครงสร้างสาระองค์ความรู้สัมพันธ์ที่มี  “ตนเองกับธรรมชาติแห่งสรรพสิ่งและความจริงทั้งหมด”  เป็นตัวบทสำคัญแห่งเรียนรู้  อันไม่มีขอบเขตพื้นที่จำกัดสามารถเชื่อมโยงไปสู่ความรู้สาระวิชาด้านต่าง  ๆ  ได้ครบถ้วนในหลาย ๆ   มิติ   ขยายขอบเขตไปสู่สภาพแวดล้อมที่กว้างขึ้นและลึกขึ้น  โดยมีช่วงชั้น และพัฒนาการของผู้เรียนเป็นตัวกำหนดความซับซ้อนที่เหมาะสม  พร้อมทั้งสามารถยืดหยุ่นได้ขึ้นกับความสนใจและศักยภาพของผู้เรียน  มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดในลักษณะเป็นกลุ่มกิจกรรมเรียนรู้  4  กลุ่มใหญ่  ดังนี้

1. กลุ่มโครงเรื่องสัมพันธ์  เป็นกลุ่มหลักในการเรียนรู้  มุ่งหวังถึงคุณลักษณะพึงประสงค์ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์จริง จากการบูรณาการทั้งด้านความรู้  การเรียนการสอน  และการฝึกปฏิบัติ  เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสร้างโครงเรื่องต่อยอดความรู้ได้ด้วยตนเอง  ตามช่วงเวลาความสนใจและแรงบันดาลใจจากประสบการณ์รอบตัว  โดยมีโครงเรื่องเป็นชุดกิจกรรมเรียนรู้  ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ขอบเขตเนื้อหา  ช่วงชั้นที่  1
โครงเรื่อง
  • “ชีวิตมหัศจรรย์” กำเนิดชีวิต วัฎจักรชีวิต ระบบชีวิต สรรพสิ่งล้วนพึ่งพา
  • “ร่างกายของฉัน” สำรวจร่างกาย ระบบกายและจิต ระบบอวัยวะ การสร้างเสริมสุขภาพพัฒนาการตามวัย
  • “ตัวตนนั้นสำคัญ” สำรวจตัวตน คุณค่าในตนเอง จุดเด่น จุดด้อย เพศตรงข้ามบทบาทท่าทีในธรรมชาติ สัมพันธภาพต่อครอบครัวและผู้อื่น
  • “ตัวฉันแสนสะอาด” การดูแลรักษาความสะอาดของตนเอง สุขภาวะ สุขบัญญัติ
  • “บ้านฉันน่าอยู่” ความเป็นบ้าน พื้นที่  ห้องต่างๆ  ของใช้ในบ้านและประโยชน์ใช้สอย  การใช้พลังงาน  สิ่งแวดล้อมและการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
  • “ครอบครัวของฉัน” โครงสร้างสายสัมพันธ์ ลำดับเครือญาติ ประวัติบรรพบุรุษบทบาทหน้าที่ในครอบครัว   เส้นเวลาเหตุการณ์สำคัญและวิถีครอบครัว
  • “งานบ้านน่าสนุก” การจัดการภายในบ้าน งานในบ้านที่ต้องดูแล  รับผิดชอบกฎ ระเบียบกติการ่วมกันภายในบ้าน
  • “ปลอดภัยไว้ก่อน” การป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพด้านต่าง ๆ ภายในบ้าน นอกบ้านสิ่งมีพิษ เครื่องหมายเตือน กฎจราจร การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
  • “หมู่บ้านผาสุก” แผนผัง สถานที่ตำแหน่งต่างๆ การดำรงชีวิต คุณสมบัติพิเศษ
  • “ชีวิตสัตว์น่ารู้” จำแนกสัตว์ประเภทต่าง ๆ การดำรงชีวิต คุณสมบัติพิเศษ
  • “แมลงและพืช” ระบบนิเวศน์และวงจรชีวิตที่สัมพันธ์กัน  ลักษณะพิเศษการจำแนกชื่อตามภูมิปัญญาท้องถิ่นและชื่อทางวิทยาศาสตร์
  • “แผ่นดินแหล่งน้ำ” กายภาพทางภูมิศาสตร์ ส่วนประกอบ สัดส่วนของน้ำ/และดินในโลกแหล่งน้ำในโลก ชั้นดินและหิน / ทรัพยากรและคุณประโยชน์
  • “ท้องฟ้าและดวงดาว” โลก  ดวงอาทิตย์  ดวงจันทร์  ดวงดาว  สุริยจักรวาล/ผลกระทบ และอิทธิผลต่อโลกและมวลชีวิต/วงจรเวลา ทิศ ฤดูกับวิถีชีวิต
  • “ชีวิตสีเขียว” พืชชนิดต่าง ๆ พืชท้องถิ่น พืชเกษตร ความสัมพันธ์ พืช-ดิน-น้ำ-แสงแดด วัฒนธรรมการเกษตร
  • “พลังธรรมชาติ” พลังงานด้านต่างๆทั้งภายใน/ภายนอก การประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาไทย/สากล
  • “ซ่อมได้ง่ายจัง” สำรวจบ้านและเครื่องใช้ ซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด/ดัดแปลงการใช้ประโยชน์
  • “ของเล่นเน้นประหยัด” ออกแบบประยุกต์ทั้งเทคโนโลยีและจินตนาการสร้างสรรค์ ทำของเล่นจากวัสดุใช้แล้วหรือชำรุด
  • “สวนผักกินได้” วางแผน ปลูกผัก ประยุกต์ความรู้จากเรื่องพืชและดิน
  • “จักรยานของฉัน” สำรวจจักรยานตนเอง ระบบการทำงาน หน้าที่ของชิ้นส่วนต่าง ๆ การบำรุงรักษา เปรียบเทียบกับจักรยานคันอื่น ๆ
  • “ประหยัดออมถนอมใช้” การออม การสะสม ทั้งในด้านการใช้จ่าย การใช้พลังงาน การใช้ร่างกายเครื่องใช้ และเวลา
  • “สมดุลชีวิต” การปรับสมดุลกายจิต ค้นหาทัศนคติเชิงบวก การสื่อสารเชิงบวกการเผชิญความเครียดและการจัด การความข้อแย้งด้วยสันติวิธี
  • “เด็กน้อยนิดคิดอะไร” ช่วงเวลาแห่งจินตนาการ บันทึกความคิดฝัน  ความประทับใจต่อสิ่งต่างๆ รวบรวมถ่ายทอดเป็นระบบสื่อสารด้วยวิธีการ หลากหลาย
  • “กล่อง บ้าน ฐานโครงสร้างสี่เหลี่ยม การประกอบกันเป็นรูปทรงหลัก อิสระจากคานและเสา” ส่วนประกอบแบบเครือข่ายสัมพันธ์ ฐาน คานและเสา
  • “รูปทรงแห่งความหมาย” เส้นสายและการเกิดรูปทรง สำรวจรับรู้ความหมายรูปทรงต่างๆผ่านความรู้สึกจินตนาการ
  • “เจาะเกมปริศนา” วิเคราะห์กฎเกณฑ์และปริศนาแห่งเงื่อนไข จากการเล่นเกมต่าง ๆ เช่น  หมากฮอส  กลยุทธโอเอ็กซ์   เป็นต้น
  • “ช่วงเวลาวันสำคัญ” เวลากับการดำเนินชีวิต  หน่วยเวลา  เส้นเวลาไทย-สากล มิติแห่งเวลา อดีต ปัจจุบัน อนาคต วันสำคัญ ปฏิทิน เงื่อนไขเวลาและความรับผิดชอบ
  • “ชาติไทยของเรา” ประเทศไทยในแผนที่โลก ภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ท้องถิ่นธงชาติ  ที่มาชาติไทย  ในหลวงของเรา
  • “กรุงเทพฯ เมืองใหญ่” องค์ประกอบความเป็นเมือง โดยขยายขอบเขตจากที่ตั้งของบ้านไปสู่สถานที่ที่รู้จักทั้งหมด


2.  กลุ่มสาระทักษะแกนร่วม   บูรณาการร่วมกับกลุ่มโครงเรื่องสัมพันธ์  เป็นการเรียนรู้และฝึกหัดโดยยึดตามกรอบสาระการเรียนรู้ของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ  ในกลุ่มสาระ  ภาษาไทย  คณิตศาสตร์  และภาษาอังกฤษ

3.  กลุ่มถนัดเลือกเรียนรู้  เป็นการเลือกเรียนรู้เฉพาะด้านสู่การฝึกปฏิบัติจากครู  ผู้ชำนาญเฉพาะสาขาโดยตรง  โดยกำหนดมาจากความสนใจของตัวผู้เรียน  ซึ่งขณะนี้มีความสนใจเรียนรู้และฝึกหัดเกี่ยวกับ -  การเล่นเครื่องดนตรีไวโอลิน
-  การเล่นกีฬาเทนนิส  ว่ายน้ำ
-  กีฏศึกษาโดยมีการฝึกปฏิบัติงานที่  “พิพิธภัณฑ์แมลงและผีเสื้อ” สวนรถไฟ กรุงเทพมหานคร
-  โครงการนิทรรศการศิลปะ จัดแสดงนิทรรศการศิลปะของครอบครัว เป็นการต่อเนื่อง

4.  กลุ่มเรียนรู้ร่วมกิจกรรม สร้างกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกันในกลุ่มครอบครัวบ้านเรียนและกลุ่มเรียนรู้อื่นๆ เพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรียนรู้ซึ่งกันและกัน มุ่งเน้นไปที่กระบวนการกลุ่มและทักษะทางสังคม


แหล่งเรียนรู้

  • แหล่งเรียนรู้ภายในบ้าน โดยมีวิถีชีวิตเป็นตัวบทศึกษา เกิดเป็นกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ
  • แหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า น้ำตก สวนสาธารณะ ฯลฯ
  • แหล่งข้อมูลจากศูนย์ความรู้  เช่น  พิพิธภัณฑ์  ศูนย์วิทยาศาสตร์  สวนสัตว์ ฯลฯ
  • แหล่งข้อมูลจากสื่อต่าง ๆ  หนังสือ  วีดิทัศน์  สารานุกรม  สารคดี  รายการโทรทัศน์
  • แหล่งเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์โดยตรง   เช่น   เรียนดนตรีกับโรงเรียนดนตรีมหิดลเสรีเซ็นเตอร์  เรียนเทนนิสกับโรงเรียนพีวีเทนนิส  ฝึกว่ายน้ำที่สระว่ายน้ำหมู่บ้านผาสุก  ฝึกงานกับพิพิธภัณฑ์แมลงและผีเสื้อ  สวนรถไฟ  กรุงเทพมหานคร  ทุกวันพฤหัสบดี  เป็นต้น


แนวทางการวัดและประเมินผล

เนื่องจากการศึกษาโดยครอบครัวเป็นการศึกษาของผู้เรียนเป็นรายบุคคล  ผู้เรียนมีพัฒนาการไปตามธรรมชาติและศักยภาพของตน  การประเมินผลจึงเป็นไปเพื่อการดูพัฒนาการของผู้เรียนอย่างเป็นจริงและรอบด้าน  และมีความจำเป็นที่จะต้องมีความยืดหยุ่นด้วยวิธีการที่หลากหลาย  และโดยการสังเกตอย่างใกล้ชิดของพ่อแม่  เพื่อนำสู่การปรับปรุงแผนการเรียนรู้ในระยะต่อไป   และค้นพบวิถีทางของการพัฒนาผู้เรียนอย่างตามสภาพที่เป็นจริงมากที่สุด  โดยจะประเมินพัฒนาการในด้านต่าง ๆ  ดังนี้
  • ด้านความรู้  ความเข้าใจ  และกระบวนการคิด
  • ด้านทักษะ  การทำงาน  การจัดการ  และการแก้ปัญหา
  • ด้านการถ่ายทอดและสื่อสาร
  • ด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์

ประเมินโดยใช้วิธีการต่าง ๆ ดังนี้


ใช้แฟ้มบันทึกผลงานการเรียนรู้ เช่น สมุดบันทึก สมุดภาพ ชิ้นผลงาน สื่อบันทึก และบันทึกของพ่อแม่
กิจกรรมเรียนรู้กลุ่มโครงเรื่องสัมพันธ์  ใช้แบบบันทึกผลพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ทั้งระหว่างการปฏิบัติกิจกรรม  และเมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรม  โดยดูผลพัฒนาการทั้ง 4 ด้านข้างตน
กลุ่มสาระทักษะแกนร่วม  ภาษาไทย  ภาษาอังกฤษ  คณิตศาสตร์  ใช้แบบฝึกหัด และแบบทดสอบความรู้
กลุ่มถนัดเลือกเรียนรู้  ใช้รายงานประเมินผลจากครูผู้สอนแต่ละกิจกรรมเรียนรู้


โครงสร้างหลักสูตรครอบครัวสังวรเวชภัณฑ์  ช่วงชั้นที่ 1

การจัดทำโครงสร้างหลักสูตรของครอบครัวสังวรเวชภัณฑ์  สำนักงานเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขต 2 เป็นผู้จัดทำร่วมกับผู้ปกครอง โดยผู้ปกครองเป็นผู้ให้ข้อมูลร้อยละของการเรียนรู้ในแต่ละกลุ่ม  ได้แก่  กลุ่มสาระวิชาความรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระทักษะประยุกต์ และการจัดการความรู้  และกลุ่มสาระความรู้สัมพันธ์ทักษะและคุณภาพชีวิต   หลังจากนั้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจึงได้กำหนดหน่วยน้ำหนัก โดยประมาณในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ ดังตารางต่อไปนี้


หาครูสอนพิเศษที่บ้าน ต้องการเรียนพิเศษที่บ้าน Tutor Ferryรับสอนพิเศษที่บ้าน
สาระหลักสูตรบ้านเรียนครอบครัวสังวรเวชภัณฑ์






Total Rating ✔

9.2 stars – 2,789 reviews

More Reviews

แสดงความคิดเห็น

ตัวอย่างแผนการจัดการศึกษาครอบครัวสังวรเวชภัณฑ์

การศึกษาทางเลือก, Home School, News